หลังจากที่เดลินิวส์ ตามเกาะติดนำเสนอข่าว ปัญหา “กลุ่มนายทุน” ปลูกทุเรียนแปลงใหญ่นับพันไร่ ในพื้นที่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งพบว่า ที่ดินดังกล่าว อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นพื้นที่ที่ได้จัดให้กับเกษตรกรและผู้ยากไร้ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือที่เรียกกันติดปากว่าเป็นที่ดิน “คทช.” แต่ปรากฏว่า มีนายทุนสามารถกว้านรวมที่ดินได้นับพันไร่ ทั้งยังพบว่ามีการนำรายชื่อเกษตรกร ไปขอรับการจัดสรรที่ดิน

ปรึกษาสมัชชาคนจน เจาะลึก โครงการจัดสรรที่ดิน คทช.สุดท้ายใครได้ประโยชน์

ทีมข่าวเดลินิวส์ ยังคงสัมภาษณ์พิเศษ นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามการดำเนินงานของคณะกรรมการนโบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาอย่างต่อเนื่อง ให้สัมภาษณ์ว่า จุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็น คทช. เริ่มมาจากปัญหาข้อขัดแย้งในเรื่องที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชน และหน่วยงานของรัฐด้วยกันเองเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องนโยบายการจัดการที่ดินทั้งประเทศด้วย ซึ่งได้พยายามมีการแก้ไขปัญหามาตลอด เช่น มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) พ.ศ. 2534 ซึ่งมีการแก้ไขปรับปรุงอยู่หลายครั้ง แต่เนื่องจากเป็นแค่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จึงไม่ค่อยมีหน่วยงานไหนสนใจจะนำไปปฏิบัติ เว้นแต่หน่วยงานของตนจะได้ประโยชน์ อีกทั้งประชาชนก็ไม่ยอมรับมติของ กบร. ต่อมาจึงได้มีการศึกษาโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เสนอว่าต้องมีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติขึ้นมา เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการที่ดินเชิงบูรณาการ และได้นำเสนอผลการศึกษาต่อรัฐบาล คสช.

จนเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้มีการประชุมและมีมติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ที่เรียกกันว่า การจัดที่ดินตามแนวทาง คทช. จากนั้นในปี 2562 รัฐบาลได้เสนอต่อรัฐสภาให้ออก พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ขึ้นมาบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน และยังคงใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติ ครม. วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561

คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล ที่อนุมัติหลักการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวม โดยไม่ให้กรรมสิทธิ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ เป็นกลุ่มหรือชุมชน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คทช. กำหนด ในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เพื่อร่วมกันบริหารจัดการที่ดิน รวมทั้งการส่งเสริมการประกอบอาชีพตามศักยภาพของพื้นที่ โดยที่ดินของรัฐทุกประเภทต้องป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ต้นน้ำในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ให้ดำเนินการตาม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 และพิจารณาหาแนวทางแก้ไขให้เหมาะสม

โดยน้อมนำแนวพระราชดำริที่เกี่ยวข้องมาปฏิบัติ เช่น โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ มาพัฒนาและดูแลหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่า พื้นที่กันชนรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าสมบูรณ์ ให้จัดในรูปแบบป่าชุมชนเพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ป่าสมบูรณ์ถูกบุกรุก โดยการจัดที่ดินของรัฐ ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานของรัฐ และ คทช. กำหนด

นายบารมี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้เข้าดำเนินการ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยจะดำเนินการจัดสรรให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คทช. กำหนด โดยการพิจารณาพื้นที่ จะให้หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ ฯลฯ กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมมีความพร้อมในการจัดที่ดิน และดำเนินการจัดทำข้อมูลพื้นที่ ประสาน คทช.จังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำเสนอพื้นที่ แต่หาก คทช.จังหวัด พิจารณาแล้วเห็นว่า มีพื้นที่เหมาะสมที่จะดำเนินการนอกเหนือจากพื้นที่เป้าหมายที่คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินกำหนด คทช.จังหวัด สามารถแจ้งหน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ พิจารณานำเสนอคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมาย จากนั้นหน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ เสนอข้อมูลพื้นที่ พร้อมข้อมูลผู้ครอบครองที่ดินเดิม ที่หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ได้สำรวจไว้แล้ว ต่อคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน จากนั้นคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน จะพิจารณาข้อมูลพื้นที่ เพื่อคัดเลือกและกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการ แล้วแจ้งให้ คทช.จังหวัด พิจารณาดำเนินการ ประสานการปฏิบัติและขับเคลื่อนการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อไป

เมื่อ คทช.จังหวัด คัดเลือกบุคคลตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในพื้นที่แล้ว ผู้ได้รับการจัดที่ดินจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มหรือชุมชน ตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ คทช. กำหนด ในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม หรือกรณีที่มีการจัดตั้งสหกรณ์แล้ว สมาชิกส่วนใหญ่จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน เพื่อร่วมกันบริหารจัดการที่ดิน กรณีพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ ให้มีการรวมกลุ่มเป็นองค์กร นิติบุคคล หรือจัดตั้งสหกรณ์ แล้วยื่นขออนุญาต/อนุญาตให้ใช้ประโยชน์/ให้เช่า/อื่น ๆ ตามกฎหมายของที่ดินแต่ละประเภท คณะอนุกรรมการจัดที่ดินส่งบัญชีรายที่ได้รับการจัดที่ดินให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด เพื่อแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง คทช.จังหวัด ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดตามกรอบการดำเนินงานที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด

นายบารมี กล่าวเสริมว่า ที่กล่าวมาเป็นหลักการคร่าวๆ ในการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชน ซึ่งหลังจากที่ประชาชนได้รับการจัดสรรที่ดิน จาก คทช. เรียบร้อยแล้ว จะมีหนังสือสัญญาและสมุด คทช. เพื่อแสดงว่า บุคคลรายนั้นๆ ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 10 ข้อ คือ ต้องสอดส่องดูแลไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพิ่มเติมและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ให้หัวหน้าครอบครัวจัดทำรายงานการใช้ประโยชน์ที่ดินทุก ๆ 1 ปี หลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาวัชพืช ยกเว้นการกำจัดเชื้อเพลิงตามมาตรการที่จังหวัดกำหนด ห้ามตัดต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เดิม หากจะตัดต้นไม้ที่ปลูกขึ้น ให้ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนด ต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการให้ข้อมูลในด้านต่าง ๆ หากครอบครัวใดมีการทำเกษตรกรรม ให้งดเว้นการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ต้องไร้ที่ดินให้เป็นไปตามมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำตามที่กรมป่าไม้กำหนด ต้องปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่จะกำหนดขึ้นภายหลัง

“ซึ่งดูเหมือนว่าเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดมานั้น จะดีและรัดกุม แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นแบบที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ที่ทางเดลินิวส์ได้นำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง คือ มีการกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ที่จะมีโครงการ คทช. ไปก่อนแล้ว หรือมีการเอาชื่อคนจากที่อื่นมาสวมสิทธิ จึงสามารถตีความได้ว่า กระบวนการในการคัดเลือกคนยังไม่รัดกุมพอ อีกทั้งยังไม่มีการตรวจสอบติดตามหลังจากจัดสรรที่ดินไปแล้ว ตนจึงมองว่ามีการปฏิบัติตามที่กำหนดหรือไม่” นายบารมี กล่าวทิ้งท้าย