สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ว่าการศึกษาวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ ในวารสารการแพทย์ “เดอะ แลนเซ็ต” รวบรวมข้อมูลจาก 204 ประเทศ
ดร.เอ็มมานูเอลลา กาคิโด จากสถาบันเพื่อการวัดและประเมินผลสุขภาพ (ไอเอชเอ็มอี) ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐ ในฐานะผู้จัดทำการศึกษาดังกล่าว ให้ความเห็นว่า ปัญหาโรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน “กำลังระบาดไปทั่วโลก” อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 929 ล้านคน เมื่อปี 2533 เป็น 2,600 ล้านคน ในปี 2564
นักวิจัยคาดการณ์ว่า ผู้ใหญ่ 3,800 ล้านคน จะมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ภายในอีก 15 ปีข้างหน้า หรือคิดเป็น 60% ของประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลก ในปี 2593 หากไม่มีการจัดการที่จริงจัง
นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ระบบสุขภาพของโลกเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก เนื่องจากคนอ้วนประมาณ 1 ใน 4 ของโลกจะมีอายุมากกว่า 65 ปี ณ ขณะนั้น
By 2050, over 50% of adults and 33% of children globally are projected to have overweight or #Obesity, posing significant health risks. Urgent policy reforms are essential to address this growing crisis. @thelancet @TheLancet https://t.co/x8bgKW26ak https://t.co/rg142aCMeo
— Medical Xpress (@medical_xpress) March 4, 2025
นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ ที่เด็กและวัยรุ่นทั่วโลกจะป่วยด้วยโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 121% โดย 1 ใน 3 จะอาศัยอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกาและแคริบเบียน
ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาระบุด้วยว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน จะอาศัยอยู่ในเพียง 8 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐ บราซิล รัสเซีย เม็กซิโก อินโดนีเซีย และอียิปต์ และมีการตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมมีแนวโน้มที่สม่ำเสมอ และไม่สามารถอธิบายได้ต่อการเกิดโรคอ้วน.
เครดิตภาพ : AFP