เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 68 ที่ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ศาลนัดฟังคำสั่งคดีขอฟ้องแบบกลุ่ม ที่สภาทนายความฯ เป็นตัวแทนยื่นฟ้องให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน จากกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ระหว่างตัวแทนกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นโจกท์ฟ้อง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดยมีนายปัญญา โตกทอง พร้อมตัวแทนผู้เสียหายจำนวน 10 คน และ ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการฝ่ายคดีสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติการสภาทนายความ และนายสิทธิพร ลีลานภาศักดิ์ ทนายความ เข้าฟังคำสั่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม โดยให้เหตุผลว่ามีการบรรยายคำฟ้องที่ขัดเจนและมีผู้เสียหายจำนวนมาก รวมถึงทนายความที่รับผิดชอบในคดีนี้มีประสบการณ์ในการทำคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและลงพื้นที่ไปตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขี้นมาแล้ว

ต่อมา ว่าที่ ร.ต.สมชาย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ศาลนัดฟังคำสั่งว่า จะสั่งว่าสามารถรับฟ้องคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม ซึ่งศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม ส่วนสาเหตุที่ศาลสั่งรับฟ้องคดีนี้ เนื่องจากเป็นการบรรยายคำฟ้องที่ชัดแจ้ง รวมถึงยกประเด็นเกี่ยวกับการที่คดีนี้มีผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงมีเหตุสมควรที่จะรับฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม รวมทั้งทนายความจากสภาทนายความ เป็นทนายที่มีประสบการณ์ในการทำคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและลงพื้นที่ไปยังพื้นที่ภัยภิบัติแล้ว จึงมีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม แต่มีเงื่อนไขคือในการจำกัดพื้นที่ในการเรียกร้องความเสียหาย คือผู้เสียหายจะต้องมาจาก อ.เมือง อ.บางคนที และ อ.อัมพวา จากจังหวัดสมุทรสงคราม เท่านั้น

ว่าที่ ร.ต.สมชาย กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะต้องรอคู่ความอย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ภายใน 7 วัน ก่อนจะนัดพร้อมคู่ความอีกครั้งหนึ่ง

ด้านนายปัญญา กล่าวว่า ตนรู้สึกสบายใจและโล่งอกเป็นอย่างมาก หลังจากที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม ตนมองว่าศาลมีความเมตตาต่อผู้เสียหายเป็นอย่างมาก เพราะพวกตนได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มานานแล้ว ตนและกลุ่มชาวบ้านจึงหวังว่าศาลจะเข้าใจในส่วนนี้ ตนยังอยากขอบคุณทีมทนายความจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ไปลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย

เมื่อถามว่า ทางตัวแทนชาวบ้านผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีความหวังว่าจะชนะคดีนี้ในอนาคตหรือไม่ นายปัญญา กล่าวว่า เมื่อทำงานแล้วก็ต้องมีความหวัง ตนและกลุ่มชาวบ้านหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตพวกตนจะได้รับความเป็นธรรม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะปลาหมอคางดำไม่เคยมีอยู่ในประเทศไทย ผู้ที่นำปลาชนิดนี้เข้ามาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ตนและชาวบ้านไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะว่าเป็นปัญหาที่มีขนาดใหญ่ จึงต้องหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรม ตนขอยืนยันว่าชาวบ้านไม่ได้ไปกล่าวร้ายให้ผู้ใดเกิดความเสียหาย พวกตนแค่ป้องกันตัวเองเท่านั้น ตนจึงหวังว่าความเป็นธรรมในสังคมจะมีอยู่จริง และขอสู้เรื่องนี้ให้ถึงที่สุด เพราะไม่ได้มีแค่ตนและชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นผู้เดือดร้อนเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดจากปลาหมอคางดำอีกมาก และตนหวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง จะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เงียบหายไปด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม คำสั่งนี้ไม่ได้หมายความว่าซีพีเอฟมีความผิดตามข้อกล่าวหา แต่เป็นเพียงการเปิดทางให้มีการพิจารณาคดีในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การตัดสินความผิดหรือความรับผิดของบริษัทจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาพยานหลักฐานในชั้นศาลต่อไป

ด้านผู้แทนของซีพีเอฟชี้แจงหลังคำสั่งศาล ระบุว่า บริษัทดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมยืนยันว่า การดำเนินงานของบริษัทไม่ได้เป็นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว โดยบริษัทจะอุทธรณ์ตามสิทธิที่มี และจะสู้คดีด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลเชิงประจักษ์ ตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่อไป