ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 “หมอเจด-เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์” รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา หรือที่หลายคนรู้จักดี ว่าเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊กหมอเจด ที่มักจะโพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ก็ได้ออกมาวิเคราะห์ 5 ข้อเสียคีโต
ที่ต้องรู้ก่อนเริ่มทำ โดยเผยว่า Keto Diet หรือการกินแบบคีโต เป็นวิธีลดน้ำหนักที่กำลังฮิตมาก เห็นหลายคนเลือกวิธีนี้นะ เพราะมันช่วยให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะ “คีโตซีส” (Ketosis) เผาผลาญไขมันแทนน้ำตาล โดยการลดคาร์บลงเหลือแค่วันละ 5-10% แล้วไปเพิ่มไขมันกับโปรตีนแทน ช่วยให้ลดน้ำหนักได้เร็ว ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ฟังดูดีนะ แต่จริง ๆ แล้วมันก็มีข้อเสียที่ต้องระวังเหมือนกันถ้าคิดจะลองทำ มาดูข้อเสียของมันก่อนดีกว่า จะได้รู้ว่าเหมาะกับเราหรือเปล่า มีอะไรต้องระวังบ้างมาดู

1. ช่วงแรกอาจรู้สึกเหมือนจะไม่ไหว (Keto Flu)
เริ่มทำใหม่ ๆ หลายคนเจออาการที่เรียกว่า “Keto Flu” หรือไข้คีโต ซึ่งเกิดจากร่างกายที่เคยชินกับการใช้คาร์บเป็นพลังงาน ต้องเปลี่ยนมาใช้ไขมันแทน ผลที่ตามมาคือปวดหัว
– เพลีย ๆ ไม่มีแรง
– คลื่นไส้ อยากอ้วก
– นอนไม่ค่อยหลับ
– เป็นตะคริว
อันนี้เป็นเรื่องปกติของช่วงปรับตัว สาเหตุหลักมาจากการที่ไกลโคเจนในร่างกายลดลง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สำคัญ เช่น โซเดียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียม อาจเจอแบบนี้ ประมาณ 1-2 สัปดาห์แรก ใครไม่เตรียมตัวอาจถอดใจไปก่อนวิธีแก้
– ดื่มน้ำเยอะขึ้นกว่าปกติ
– เติมเกลือแร่ด้วยน้ำซุปกระดูก หรือเกลือหิมาลายัน
– กินไขมันดีให้พอ เช่น อะโวคาโด น้ำมันมะกอก

2. เสี่ยงขาดสารอาหาร ท้องผูก หรือท้องเสีย
พอลดคาร์บเยอะ ๆ ก็ต้องตัดอาหารบางอย่างออกไป เช่น ข้าว ขนมปัง ผลไม้หลายชนิด และถั่วบางประเภท นั่นหมายความว่าเรามีโอกาส ขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น
– ไฟเบอร์ต่ำ ท้องผูกบ่อย
– ขาดวิตามิน C และ B ผิวแห้ง อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันตก
– ขาดแมกนีเซียมและโพแทสเซียม เป็นตะคริวง่าย
บางคนที่ร่างกายปรับตัวไม่ทัน อาจเจอ ท้องเสีย เพราะกินไขมันเยอะเกินไปจนลำไส้รับไม่ไหววิธีแก้
– เน้นผักใบเขียว เช่น บรอกโคลี กะหล่ำปลี
– กินถั่วและอะโวคาโดเพิ่มแมกนีเซียม
– ถ้าท้องไส้มีปัญหา ลองลดไขมันแปรรูป แล้วเลือกไขมันจากพืชแทน
– อาจหาอาหารเสริมมาเป็นตัวช่วย เช่น แมกนีเซียมและวิตามิน B

3. ไตและตับต้องทำงานหนักขึ้น
แม้ว่า Keto จะไม่ได้เน้นโปรตีนเยอะมาก แต่หลายคนที่ทำ มักจะเผลอกินโปรตีนเยอะเกินไป เช่น เนื้อสัตว์ ชีส ไข่ ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องขับของเสียจากโปรตีนออกทางปัสสาวะ
ความเสี่ยง
– คนที่เป็นโรคไต ควรหลีกเลี่ยง
– ระดับไขมันในเลือดอาจเพิ่มขึ้น หากเลือกไขมันที่ไม่ดี
วิธีแก้
– เลือกโปรตีนที่ดี เช่น ปลา ถั่ว และโปรตีนจากพืช
– เลี่ยงไขมันจากเนื้อสัตว์ติดมัน แล้วหันไปใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันอะโวคาโดแทน

4. อาจส่งผลต่อคอเลสเตอรอลและหัวใจ
Keto ทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันแทนน้ำตาล แต่ถ้าเลือกกินไขมันผิดประเภท เช่น ไขมันอิ่มตัวจากเนื้อสัตว์ ชีส และเนย อาจทำให้ไขมัน LDL (ไขมันไม่ดี) เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ
ข้อควรระวัง
– อย่ากินไขมันจากสัตว์เยอะเกินไป
– เลี่ยงของทอด และไขมันทรานส์ (ไขมันแปรรูป)
วิธีแก้
– เน้นกินไขมันดีจากปลาแซลมอน อะโวคาโด และถั่ว
– ใช้น้ำมันมะกอกแทนน้ำมันทั่วไป
– ตรวจระดับไขมันในเลือดเป็นระยะ

5. อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคนและยากต่อการรักษาในระยะยาว
Keto Diet อาศัยการใช้วินัยที่สูงนะ เพราะต้องลดคาร์บให้ต่ำมาก และกินไขมันเป็นพลังงานหลัก ซึ่งอาจทำให้บางคนรู้สึก กดดันและเลิกทำกลางคัน นอกจากนี้ ยังไม่เหมาะกับคนบางกลุ่ม เช่น
– ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะ Ketoacidosis
– หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร อาจกระทบการพัฒนาของเด็ก
– นักกีฬาหรือผู้ที่ต้องใช้พลังงานสูง อาจขาดพลังงานจากไกลโคเจนปัญหาหลัก
– หลายคนเลิกทำเพราะเบื่อและเคร่งครัดเกินไป ถ้ากลับไปกินคาร์บปกติ อาจเกิดโยโย่เอฟเฟกต์
วิธีแก้ไข
– ลองใช้ Cyclic Keto (เว้นช่วงกินคาร์บ) หรือ Targeted Keto (กินคาร์บเฉพาะวันออกกำลังกาย)
– ฟังร่างกายของตัวเอง ถ้ารู้สึกไม่ดี ควรปรับวิธีการกินให้เหมาะสม

ผมสรุปแบบนี้แล้วกันนะว่า Keto Diet ไม่ได้เหมาะกับทุกคน จริงอยู่ที่มันจะช่วยลดน้ำหนักได้เร็ว และมีข้อดีในเรื่องของการควบคุมระดับน้ำตาล แต่ก็มีข้อเสียที่ต้องตามที่พูดไปด้านบน ถ้าคิดจะลอง ควรเลือกกินไขมันที่ดี เติมเกลือแร่ให้พอ และปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ถ้ารู้สึกไม่ดี อาจลองปรับเป็น Low-Carb หรือแนวทางอื่นที่เหมาะกับร่างกายเรามากกว่าก็ได้ ใครมีคำถามคอมเมนต์ได้เลยนะ…

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @หมอเจด