“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและบริษัท นอร์ท บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ได้ทดสอบการเดินรถใน 2 ขบวนที่ได้ติดตั้งชุดล้อประคอง (Guide wheel) ใหม่ ซึ่งมีระบบป้องกันความเสียหายของชุดล้อ (Failsafe) แบ่งเป็น สายสีเหลือง 1 ขบวน (YM14) และสายสีชมพู 1 ขบวน (PM14) เสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่สิ้นเดือน ม.ค. 2568 หลังจากเริ่มทดสอบมาตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. 2567 เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน หรือประมาณ 3 หมื่นกิโลเมตร (กม.)

การทดสอบเป็นไปด้วยความราบรื่น เบื้องต้นยังไม่พบปัญหาใด การตรวจวัดอุณหภูมิของชุดล้อประคองขณะที่วิ่งให้บริการอยู่ที่ 47-52 องศาเซลเซียส ตามเกณฑ์ที่กำหนด และยังไม่พบความผิดปกติจากการทดสอบ ทั้งนี้วิศวกรของผู้ผลิตจะนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพิ่มเติม หากพบว่าไม่มีความเสี่ยงใดๆ
คาดว่าจะเริ่มทยอยเปลี่ยนชุดล้อประคองของรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้งหมดของสายสีชมพูและสายสีเหลือง ตั้งแต่ประมาณกลางเดือน มี.ค. 2568 และจะให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2568 (รถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีทั้งหมด 30 ขบวน และสายสีชมพู 42 ขบวน เปลี่ยนไปแล้วสายละ 1 ขบวน เหลืออีก70 ขบวน ที่ต้องทยอยเปลี่ยนล้อ รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) 1 ขบวน จะมีล้อประคอง 48 ล้อ ข้างละ 24 ล้อ 72 ขบวน รวม 3,456 ล้อ

สำหรับล้อที่ออกแบบใหม่ โดยอัลสตอมได้เปลี่ยนวัสดุที่ใช้จากอะลูมิเนียมอัลลอย เป็นเหล็กชนิด Q355NE เพิ่มความแข็งแรง พร้อมติดนอตยึดล็อกเพิ่มอีก 6 จุด บนฝาครอบของชุดล้อประคอง เป็นการล็อกสองชั้น เมื่อเกิดอุปกรณ์ยึดหลุดจะมีตัวล็อกอีกชั้น ทำให้ล้อไม่หลุดร่วงลงมา ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น

นอกจากนี้ ได้เพิ่มอุปกรณ์วัดอุณหภูมิของล้อประคอง โดยจะส่งข้อมูลทันที (Real time) ไปยังระบบควบคุมจัดการภายในขบวนรถ (TCMS) บนตัวรถ เมื่อมีอุณหภูมิเกินค่าที่กำหนด ซึ่งตั้งไว้ที่ 60 องศาเซลเซียส และ TCMS จะส่งสัญญาณแจ้งเตือน (Alarm) ไปยังศูนย์ควบคุมการเดินรถ (OCC) และหยุดเดินรถนำรถเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง เพื่อตรวจสอบทันที

ขณะเดียวกันผู้ให้บริการจะเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบล้อ และส่วนต่างๆ เพิ่มเติมจากการตรวจวาระปกติ ก่อนนำขบวนรถออกให้บริการประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทย อีกทั้งป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก