กรณีดราม่า ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพรถมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลก “โมโตจีพี” ซึ่งมีกระแสว่า หลังหมดสัญญาในการจัดปี 2026 ไทยจะไม่ต่อสัญญา ขณะที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า อยู่ในช่วงพิจารณา มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำข้อมูล ขณะที่ นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต สังเวียนแข่ง โมโตจีพี ก็ขอบคุณ นางสาวแพทองธาร ที่รับพิจารณา ก่อนหน้านี้เขาแสดงความเห็นถึงการที่ไทยจะเสนอตัวจัดรถสูตรหนึ่งชิงแชมป์โลก “เอฟวัน” ว่า เทียบกับ โมโตจีพี แล้ว เอฟวัน ซึ่งหลายประเทศเลิกจัดแล้ว เป็นอีเวนต์ที่เข้าถึงยาก เหมือน “หมาเห็นเครื่องบิน” ยิ่งถ้าจัดในกรุงเทพฯ ตนรู้สึกสยองแทนคนจัด และคนกรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่าลิขสิทธิ์โมโตจีพี รอบแรก ปี 2561-2563 ค่าลิขสิทธิ์ 900 ล้านบาท รัฐบาลสนับสนุน 300 ล้านบาท และรอบล่าสุด 2564-68 ค่าลิขสิทธิ์ 1,800 ล้านบาท รัฐบาลสนับสนุน 900 ล้านบาท โดยส่วนตัวจะไปหาสนับสนุนจากเอกชน
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 4 มี.ค. 68 ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์รายการ “เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์” ระบุว่า การจัดโมโตจีพี ถ้ามองรายได้ค่าใช้จ่ายโดยตรงอาจมองว่าไม่คุ้มหรืออย่างไร แต่ถ้ามองมูลค่าเศรษฐกิจ การจ้างงาน รายได้ภาษี อันนี้คุ้ม แต่คุ้มมากน้อยแค่ไหน ตนขอไม่ให้ความเห็น ตัวเลขดีขึ้นเรื่อยๆ นับแต่เริ่มจัดอย่างน่าพึงพอใจ ยิ่งมีเอกชนมาเกี่ยว นำแคมเปญร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กกท. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มูลค่าเศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ว่าการ กกท. กล่าวต่อไปว่า จำนวนผู้ชม ปี 2019 ตลอด 3 วัน 226,000 คน มาปีนี้ ดีสุดนับตั้งแต่โควิด คือ 224,000 คน แม้จำนวนน้อยกว่า แต่มูลค่าเศรษฐกิจมากกว่า อยู่ที่ราว 2 พันล้านบาท ซึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งจากใช้จ่ายจากต่างประเทศ การจ้างงานปีนี้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 7 พันกว่าตำแหน่ง
เมื่อพิธีกรถามว่า มุมมองของ ดร.ก้องศักด การจัดโมโตจีพี คุ้มใช่หรือไม่ ผู้ว่าการ กกท. ตอบว่า ภาวะที่ประเทศต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น ก็เป็นสิ่งจูงใจที่รัฐบาลตัดสินใจต่อสัญญา ถ้ามองเม็ดเงินรัฐบาลอัดมาโดยตรง 400 กว่าล้านบาท แต่มูลค่าเศรษฐกิจกลับมา 5 พันล้านบาท

เมื่อถามว่าในเชิงนโยบาย ไทยจะซื้อลิขสิทธิ์ต่อหรือไม่ ดร.ก้องศักด ตอบว่า นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้นโยบายดูประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก สอดคล้องกับนายกรัฐมนตรี ที่ให้มองในมุมเศรษฐกิจ ธุรกิจ ประเทศไทย ประชาชนได้อะไร ถ้าตัวเลขชัดเจน อย่างตัวเลขข้างต้น มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศชัดเจน 52,000 คน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า นอกจากมาดูโมโตจีพี ยังเดินทางไปจังหวัดอื่นต่อ ก็สร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกจากตัวเลขที่บอกไว้
“ผมก็ยังเชื่อมั่นว่า ด้วยตัวเลขสถิติต่างๆ และการชื่นชมทั่วโลกที่ไทยได้รับ รัฐบาลก็จะพิจารณาในการต่อสัญญาได้” ดร.ก้องศักด กล่าว
เมื่อถามว่า ระหว่าง โมโตจีพี กับ เอฟวัน การแข่งไหนสร้างผลตอบแทนเศรษฐกิจมากกว่า ดร.ก้องศักด ตอบว่า การศึกษาของ เอฟวัน ยังไม่ยุติ มอบหมายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ กำลังประมาณการ รออีกนิดเดียว อีกไม่กี่เดือน แต่โมโตจีพีมีตัวเลขพิสูจน์แล้ว เป็นตัวเลขจริง ไม่ใช่ประมาณการ

เมื่อถามว่าการจะต่อหรือไม่ต่อสัญญาโมโตจีพี ต้องรอผลศึกษา เอฟวัน หรือไม่นั้น ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า คิดว่ารอไม่ได้ เพราะเป็นคนละอีเวนต์ ฐานแฟนคลับมิติต่างกัน โมโตจีพี เริ่มติดตลาดไทย เพราะสร้างมา 6-7 ปีแล้ว
ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า ค่าลิขสิทธิ์โมโตจีพี ไม่นิ่ง เป็นขั้นบันได มติคณะรัฐมนตรีสนับสนุนครึ่งหนึ่ง แล้วไปหาสิทธิประโยชน์ ส่วนค่าจัดต่างๆ ก็การสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ถ้าไทยจะจัดต่อ จะโยนภาระให้เอกชนอย่างเดียว ตนรับประกันเลยว่าไทยไม่สามารถจัดได้
กับคำถามถึงเดดไลน์ ที่ต้องยืนยันกับ ดอร์นา สปอร์ต (เจ้าของลิขสิทธิ์โมโตจีพี) ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า ตอนนี้เร่งทำงานมาก ดอร์นา สอบถามตลอด เพราะ ดอร์นา ก็ต้องตัดสินใจ มีหลายประเทศต่อคิว กระแสโมโตสปอร์ตตอนนี้กลับมาค่อนข้างแรง หลายประเทศอยากเป็นเจ้าภาพมาก ยิ่งช้า ยิ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อการต่อรอง

กับคำถามว่า การเสนอตัวจัด “เอฟวัน” นั้น มีนายสนธยา คุณปลื้ม คือคนที่มาช่วยทำงานใช่หรือไม่ ดร.ก้องศักด ตอบว่า “ครับๆ” ก่อนจะพูดต่อว่า มีผู้ใหญ่หลายคนมาช่วย ตั้งแต่ยุคนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีคนสนใจ ช่วยดู ซึ่งเราเองก็อยากให้ผลศึกษาเร็ว แต่เรื่องใหญ่ มูลค่าสูง สูงกว่าโมโตจีพีแน่นอน ต้องพิจารณาละเอียดรอบคอบ
“แต่มีแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้ ว่าเราจะมีโมโตจีพี และฟอร์มูล่าวัน คู่กัน ไม่มีอะไรที่ผิดเลย ไม่จำเป็นต้องตัดรายการใดรายการหนึ่งออก ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่า ทั้ง 2 รายการมีผลประโยนช์กับประเทศชาติ ประชาชนได้ประโยชน์ ถ้ารัฐมีศักยภาพในการลงทุน ก็สามารถจัดได้ทั้ง 2 รายการ” ดร.ก้องศักด กล่าว
เมื่อถามว่า นายสนธยา จะดึง ฟอร์มูล่าวัน ไปแข่งที่ ชลบุรี แล้วสนามพร้อมหรือไม่ ดร.ก้องศักด กล่าวว่า ปัจจุบันไม่พร้อม แต่ปรับได้ แต่เรื่องสนามแข่งก็มีหลายทางเลือก ทั้ง กรุงเทพฯ, ต่างจังหวัด, สตรีทโรด, สร้างสนามใหม่ หรือปรับปรุงสนามเดิม ซึ่งในส่วนของ ชลบุรี ทำได้ทั้ง 2 ทางเลือก คือ สร้างสนามใหม่ หรือปรับปรุงสนามเดิม.
(ขอบคุณข้อมูลรายการ เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์)