ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาผู้บริโภค จัดเสวนา ควบรวมโทรคมนาคม : ผลประโยชน์หรือภาระของผู้บริโภค? หลังจากที่ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ควบรวมเป็นบริษัทเดียวกันเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 66 จนปัจจุบันเป็นเวลาครบ 2 ปี รวมถึงการรวมกิจการของ “เอไอเอส-3บีบี” แต่ กสทช. ยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก

นายกัลป์ กรุยรุ่งโรจน์ นักวิจัยจาก ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 PUB กล่าวว่า จากการศึกษาว่า ก่อนการควบรวม ค่าบริการโทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มลดลง โดยในไตรมาสแรกของปี 66 ค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมายอยู่ที่ 240 บาท แต่หลังจากควบรวม ค่าบริการกลับเพิ่มขึ้นอีก 205-222 บาท ในปี 67 โดยนอกจากนี้ แพ็กเกจราคาถูกที่เคยมีเริ่มหายไป เช่น แพ็กเกจรายเดือนของ ทรู เพิ่มจากเกือบ 300 บาท เป็นเกือบ 500 บาท ดีแทค เพิ่มจาก 350 บาท เป็น 399 บาท และเอไอเอส จาก 349 บาท เป็น 399 บาท ส่วนแพ็กเกจซิมอินเทอร์เน็ตที่เคยขายประมาณ 100 บาท ปัจจุบันกลายเป็น ทรู 242 บาท, ดีแทค 191 บาท และ เอไอเอส 233 บาท เป็นต้น

“แม้ว่าสำนักงาน กสทช. จะกำหนดเงื่อนไขให้ลดค่าบริการลง 12% ภายใน 90 วัน หลังการควบรวมหรือภายใน มิ.ย. 66 แต่กลับไม่มีการแสดงค่าเฉลี่ยราคาที่ชัดเจน และแม้อ้างว่าสำนักงานจะมีการใช้สูตร โดยเฉพาะการหารค่าเฉลี่ยของแต่ละแพ็กเกจ ซึ่งไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะเดียวกัน ทางผู้บริโภคเริ่มกังวลว่าอาจมีการลดจำนวนเสาสัญญาณในบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดปัญหาผู้ใช้บริการแย่งสัญญาณกัน โดย กสทช. มีระบบติดตาม เฝ้าระวัง ประเมินคุณภาพเป็นรายไตรมาสในแต่ละภูมิภาค แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าสามารถตรวจสอบผลกระทบได้จริงหรือไม่“

ด้าน นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวว่า บทบาทของ กสทช. ขัดต่อเจตนารมณ์การคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่ เนื่องจากรายงานที่เผยแพร่เน้นแต่ผลประกอบการของบริษัท มากกว่าการสะท้อนปัญหาที่ประชาชนเผชิญ โดยคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ กลุ่มรายได้น้อยและผู้ใช้แบบเติมเงินที่ต้องเผชิญค่าบริการที่สูงขึ้นและถูกจำกัดทางเลือกมากขึ้นอีกปัญหาหนึ่งคือ กลยุทธ์การผูกมัดผู้บริโภค เช่น การพ่วงบริการมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านเข้าด้วยกัน ทำให้การเปลี่ยนค่ายเป็นเรื่องยากด้วย 

ด้าน นายพรเทพ เบญญาอภิกุล ผู้อำนวยการเศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การควบรวมช่วยลดต้นทุนบริษัท และเพิ่มอำนาจการกำหนดราคา ซึ่งเป็นข้อเสียต่อผู้บริโภค โดยงานศึกษาหลายฉบับพบว่าการควบรวมโทรคมนาคมมักส่งผลเสียต่อการแข่งขันแม้จะมีการกล่าวอ้างเรื่องนวัตกรรม แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ยังมีไม่มาก อีกทั้ง ตลาดโทรคมนาคมของไทยมีลักษณะผูกขาดมากขึ้นเนื่องจากการแข่งขันลดลง ส่งผลให้โปรโมชั่นลดลงตามไปด้วย สำหรับแนวทางแก้ไข ได้แก่ การกำกับดูแลราคาที่เข้มงวดขึ้น การส่งเสริม MVNO (Mobile Virtual Network Operator) ให้มีการแข่งขันมากขึ้น และการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรม 

ด้าน นายกนกนัย ถาวรพาณิชย์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเปิดช่องให้หน่วยงานกำกับดูแลตรวจสอบและห้ามการควบรวมได้ แต่ กสทช. กลับเลือกที่จะไม่ใช้มาตรการดังกล่าว หากเป็นในต่างประเทศ เช่น อังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) หากพบว่าการควบรวมกระทบการแข่งขัน หน่วยงานสามารถบังคับให้แยกธุรกิจคืนสู่ตลาดได้ โดยมีแนวทางที่เสนอ ได้แก่ การเปิดทางให้ MVNO แข่งขันมากขึ้น สนับสนุน บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที ให้เป็นผู้เล่นรายใหม่ และบังคับใช้มาตรการเยียวยาที่เข้มงวดขึ้น

ขณะที่ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบัน ตลาดโทรคมนาคมขาดความโปร่งใสและการแข่งขันที่เป็นธรรม ดังนั้น กสทช. ควรถูกตรวจสอบจากภาคประชาชนมากขึ้น แต่กฎหมายปี 2562 จำกัดสิทธิของประชาชนในการถอดถอนกรรมการ กสทช. ทำให้การเรียกร้องความรับผิดชอบทำได้ยาก ทางสภาผู้บริโภคเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสของบอร์ด กสทช. ทั้งการควบรวมทรู-ดีแทค และเอไอเอส-3บีบี ที่อาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน