สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ว่า รัฐบาลฝ่ายขวาจัดของนายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนี ผู้นำอิตาลี ระบุว่า นิวเคลียร์อาจมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และค่าไฟฟ้าที่สูงลิ่วของประเทศ
นายกิลแบร์โต ปิเชตโต ฟราติน รมว.พลังงานอิตาลี กำหนดเส้นตายในปี 2569 เพื่อร่างกรอบกฎหมายการดำเนินการด้านนิวเคลียร์ ตั้งแต่เตาปฏิกรณ์แบบดั้งเดิม ไปจนถึงเทคโนโลยีในอนาคต
“พลังงานนิวเคลียร์รุ่นล่าสุด และพลังงานหมุนเวียน จะทำให้อิตาลีสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และรับประกันความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างเต็มที่” ปิเชตโต ฟราติน กล่าวเพิ่มเติม
#Italy breaks 'taboo' with push to revive #Nuclear https://t.co/PeWL0Q9SKf
— Digital Journal (@digitaljournal) February 28, 2025
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านกล่าวว่า นิวเคลียร์มีต้นทุนสูงกว่าพลังงานคาร์บอนต่ำประเภทอื่นอย่างมาก และต้องใช้เวลานานหลายปี จึงจะสามารถนำมาใช้งานจริงได้ ส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายมีข้อแก้ตัวในการชะลอการเลิกใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ด้านนายลูกา แบร์กามัสกี จากคลังสมองด้านสภาพอากาศ “เอคโค” (ECCO) ของอิตาลี กล่าวว่า ในกรณีที่ดีที่สุด อิตาลีจะไม่มีพลังงานนิวเคลียร์ จนกว่าจะถึงปี 2578 เป็นอย่างน้อยที่สุด
อนึ่ง อิตาลีเคยเป็นผู้บุกเบิกด้านพลังงานนิวเคลียร์ แต่ชาวอิตาลีกลับลงคะแนนเสียงคัดค้านอย่างท่วมท้น หลังเกิดภัยพิบัติเชอร์โนบิล เมื่อปี 2529 ซึ่งนำไปสู่การเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา.
เครดิตภาพ : AFP