เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย (ฉบับที่..) พ.ศ. … ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 โดยปรับปรุงกลไกและมาตรการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษทางอาญา และแก้ไขบทกำหนดโทษสำหรับความผิดไม่ร้ายแรงให้มีเพียงโทษปรับสถานเดียว รวมทั้งปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

รองโฆษกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังขยายความคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในทุกประเภท ครอบคลุมตำรับยาแผนไทยของชุมชน และของนิติบุคคล จากเดิมจะคุ้มครองเพียง 3 ประเภท คือ ตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ ตำราการแพทย์แผนไทยทั่วไป และตำราการแพทย์แผนไทยส่วนบุคคล ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชุมชน หากมีการนำยาแผนไทยของชุมชนไปใช้ประโยชน์ทางการค้า ต้องมีการขออนุญาตและจ่ายค่าธรรมเนียมภูมิปัญญา และค่าตอบแทนให้กับชุมชน หากนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีบทลงโทษ

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวต่อด้วยว่า นอกจากนี้ ยังปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์ฯ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก และแก้ไขขั้นตอนในการจดทะเบียนสิทธิ การกำหนดเงิน และทรัพย์สินของกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์ฯ และเพิ่มบทบัญญัติให้อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย ให้สามารถเปรียบเทียบคดีความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือที่มีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี รวมทั้งปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ในภูมิปัญญาการแพทย์ฯ และสมุนไพร เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการรับรองสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์ฯ ที่หลากหลายและสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

โดยให้ สธ. แก้ไขบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับพินัย พ.ศ. 2565 ก่อนแล้วส่งให้ ปสส. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. ยังรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 14 ฉบับ เป็นกฎกระทรวง 8 ฉบับ เป็นประกาศ 3 ฉบับ และเป็นระเบียบ 3 ฉบับ โดยมีระยะเวลาดำเนินการภายหลัง พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับประมาณ 90-240 วัน.