จากกรณีที่ นายสุพจน์ ภู่รัตนโอภา รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมป่าไม้ ออกหนังสือ ด่วนที่สุด กรณีปัญหาทุเรียนแปลงใหญ่ของนายทุนต่างชาติ โผล่ในพื้นที่ป่าสงวนฯ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้สั่งตรวจสอบละเอียด โดยหากผิดเงื่อนไข คทช. จ่อเพิกถอนสิทธิที่ดิน กลับคืนรัฐ นั้น

‘ป่าไม้’ สั่งสอบรุกป่าปลูกทุเรียน ผิดเงื่อนไขจ่อเพิกถอนสิทธิที่ดินกลับคืนรัฐ

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 2 มี.ค. 68 นักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องที่ดินทำกิน (ขอสงวนชื่อ นามสกุล) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ ทีมข่าวเดลินิวส์ โดยได้กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2562 สมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยประกาศเป็นพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เพื่อทำหน้าที่ กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการร่วม มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการและมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การกำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในปัจจุบันมีการกำหนดไว้ในกฎหมายหลายฉบับและการบังคับใช้กฎหมายจะอยู่ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบรวมถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้นๆ โดยไม่มีการทำงานร่วมกันทำให้การควบคุมคุมดูแลและการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไม่เป็นเอกภาพและไม่มีกรอบแนวทางเพื่อให้การกำหนดแนวทางการพัฒนา ภารกิจ และการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง โดยการบูรณาการการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และภูมิสังคม ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

โดย คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ มีแนวทางในการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรมีหลักเกณฑ์ในเบื้องต้น คือ ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 3, 4, 5, ก่อนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 41 ชุมชนในเขตป่าสวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 3, 4, 5, หลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 41 และต้องปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิ.ย. 57 ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1, 2 ก่อนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 41 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1, 2 หลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 41 และต้องปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิ.ย. 57 ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่จะครอบครองที่ดิน จะต้องมีสัญชาติไทย บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้ที่ได้ครอบครองที่ดิน และทำประโยชน์มาโดยต่อเนื่อง และไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ออกจากพื้นที่ครอบครองนั้นมาก่อน

นักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน ได้ให้ความเห็นอีกว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้มีการดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชนผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน โดยจะมีการออกหนังสือ คทช. ให้ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าได้มีการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ แต่ที่ผ่านมาการจัดสรรที่ดินตามนโยบาย คทช. ยังไม่แล้วเสร็จและเป็นไปด้วยความล่าช้า อีกทั้งบางพื้นที่ยังมีข้อติดขัดระหว่างหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เช่น กรมป่าไม้ ทำให้เกิดความล่าช้า รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดในการอนุญาตที่ไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง ส่งผลให้ขาดการยอมรับจากชุมชนท้องถิ่นบางส่วน ตนยังมองว่า คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ยังไม่สามารถทำหน้าที่ในการชี้นำเชิงนโยบายและบูรณาการหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้ง คณะทำงานในพื้นที่ ของ คทช.เอง ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ เป็นประธาน ก็ยังไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง ทั้งการสำรวจ หรือตรวจสอบ ตั้งแต่การสำรวจออกสมุด คทช.ให้กับประชาชน รวมถึงการติดตามหลังจากที่ได้มอบหนังสือรับรอง คทช.ไปแล้ว ปัจจุบันพบว่ากลไกระดับจังหวัดขาดการสนับสนุนทั้งในด้านบุคลากรและงบประมาณจากส่วนกลาง คือสำนักงาน คทช. จุดอ่อนสำคัญคือ การส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดิน คทช. ร่วมกันมากขึ้น รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่และระบบการผลิตที่นำไปสู่ความยั่งยืน รวมทั้งระบบการติดตามตรวจสอบภายหลังจากมอบหนังสือ คทช.ไปแล้วว่ามีการเปลี่ยนมือหรือผิดเงื่อนไขการอนุญาตหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราที่พบว่า มีการเปลี่ยนมือผู้ถือครองที่ดิน จากประชาชนเป็นนายทุน จริงหรือไม่ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนมือจากประชาชนผู้ที่มีคุณสมบัติ ไปเป็นกลุ่มนายทุน ตนก็ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง หากมีการเปลี่ยนมือ ซึ่งขัดต่อหลักการการให้ที่ดินทำกินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ก็ควรมีการเพิกถอนสิทธิการให้ครอบครองที่ดินทำกิน และให้ที่ดินแปลงดังกล่าวกลับไปคงสถานะเดิม เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ.