สำนักข่าวซินหัวรายงานจากนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ว่าโคเอนไซม์คิว10 เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายมนุษย์สามารถผลิตได้เอง และจำเป็นต่อสุขภาพโดยรวม โดยเฉพาะสุขภาพหัวใจ


อย่างไรก็ตาม ความสามารถผลิตสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายในไขมันได้ชนิดนี้ จะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ทำให้การเพิ่มสารอาหารจะเป็นประโยชน์ ส่วนพืชอาหารจําพวกธัญพืช เช่น ข้าว รวมถึงผักและผลไม้บางชนิด จะสังเคราะห์โคเอนไซม์คิว9 (CoQ9) เป็นหลัก


หลังวิเคราะห์วิวัฒนาการของความแปรผันทางธรรมชาติในเอนไซม์โคเอนไซม์คิว1 (Coq1) จากพืชบกมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ และใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่อง (ML) แล้ว คณะนักวิจัยได้ใช้การปรับแต่งยีนมาดัดแปลงกรดอะมิโนหลัก 5 ตัว ของเอนไซม์โคเอนไซม์คิว1 ในข้าว เพื่อสร้างข้าวพันธุ์ใหม่ ที่สามารถสังเคราะห์โคเอนไซม์คิว10 โดยปริมาณโคเอนไซม์คิว10 ซึ่งเพิ่มขึ้น จะไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตข้าว

AFP


ขณะเดียวกัน การศึกษาดังกล่าวยังเป็นตัวอย่างของการใช้คลังข้อมูลขนาดใหญ่ และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาช่วยเหลือการปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งนอกจากการศึกษานี้แล้ว มีการศึกษาลักษณะคล้ายกัน ที่สามารถพัฒนาข้าวสาลีพันธุ์ใหม่ด้วย

อนึ่ง ทีมนักวิจัยของการศึกษานี้ประกอบด้วย คณะนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์พืชเซลล์โมเลกุล/ศูนย์วิจัยเซี่ยงไฮ้ เฉินซาน และสถาบันพันธุศาสตร์และชีววิทยาการพัฒนาในกรุงปักกิ่ง ซึ่งทั้งหมดสังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และมีการเผยแพร่ผลการศึกษาผ่านวารสาร “เซลล์” ฉบับออนไลน์ เมื่อไม่นานมานี้.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA