เชื่อว่านักเตะที่หลายคนยกให้เป็นสุดยอดในวงการคงหนีไม่พ้น “คริสเตียโน โรนัลโด” หนึ่งในนักกีฬาที่มีวินัยดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมไปถึงให้ความสำคัญกับการพักผ่อน ซึ่งไม่ว่าจะเห็นเขาที่ไหนก็จะพบว่าหุ่นฟิตร่างลีน จนหลายคนยึดเป็นหุ่นในฝัน

ซึ่งโรนัลโดเคยเผยเคล็ดลับว่า การทานอาหารแบ่งออกเป็นมื้อเล็กจำนวน 6 มื้อต่อวัน โดยทุก 3-4 ชั่วโมง ในมื้อจะประกอบไปด้วย สเต๊กปลา, สลัด, ไข่ข้น, มันฝรั่ง และเน้นกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ส่วนเครื่องดื่มเลือกแค่น้ำเปล่าและกาแฟดำ เสริมด้วยผักและผลไม้เท่านั้น

ส่วนการรักษาความสมดุลของร่างกายจะนอนให้ครบ 8 ชั่วโมงเหมือนคนทั่วไปแบ่งเป็นรอบ 90 นาที 5 รอบต่อวัน โรนัลโดเชื่อว่าการงีบระหว่างวันจะช่วยส่งผลในการทำงานของสมองและอารมณ์ แถมช่วยคลายความกังวลและความเครียด และให้ความสำคัญเวลาที่ใช้ร่วมครอบครัวมากกว่าไปปาร์ตี้ ต่อมาหลายคนก็พากันสงสัยวิธีดูแลสุขภาพของสุดยอดนักแตะแบบนี้จะส่งผลดีในอนาคตจริงหรือไม่

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2568 “หมอเจด-เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์” รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา หรือที่หลายคนรู้จักดีเจ้าของเพจเฟซบุ๊กหมอเจด ที่มักจะโพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพก็ได้ออกมาวิเคราะห์ การนอนแบบโรนัลโด ดีจริงหรืออย่าหาทำ

ซึ่งกล่าวว่า หลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องการนอนแบบ คริสเตียโน โรนัลโด หรือตำนาน CR7 ก็คือนอนแบบ “Polyphasic Sleep“ โดยแบ่งการนอนเป็นรอบละ 90 นาที วันละ 5 รอบ หรือก็คือ การนอนแบบ Polyphasic Sleep ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับนักกีฬาที่ต้องฟื้นตัวไว และปรับตัวให้เข้ากับตารางแข่งที่เปลี่ยนตลอดเวลาแต่คำถามคือ “มันดีจริงไหม?” และ “เราควรลองทำตามหรือเปล่า” เดี๋ยวอธิบายให้ฟัง

1. Polyphasic Sleep คืออะไร แล้วมันต่างจากการนอนปกติยังไง?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจรูปแบบการนอนกันก่อน Monophasic Sleep นอนทีเดียว 6–8 ชั่วโมง ก็คือแบบที่คนส่วนใหญ่นอนนั่นแหละ Biphasic Sleep นอนกลางคืน + งีบกลางวัน Polyphasic Sleep นอนเป็นช่วงสั้น ๆ หลายครั้งตลอดวัน
หลักการของ R90 คือ
– นอนครั้งละ 90 นาที เพื่อให้ครบ 1 Sleep Cycle (จากหลับตื้นไปถึงหลับลึก)
– นอนทั้งหมด 5 รอบต่อวัน (รวม 7.5 ชั่วโมง)
– เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
ฟังดูเหมือนเป็นเทคนิคที่ดีใช่ไหม? แต่ปัญหาคือยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่บอกว่ามันดีกว่าการนอนแบบปกติในระยะยาว

2. โรนัลโด ทำได้แล้วทำไมเราอาจทำไม่ได้?
การที่โรนัลโดใช้เทคนิคนี้ได้เป็นเพราะว่าเขามี
– ทีมแพทย์และนักโภชนาการดูแล 24/7
– ตารางการฝึกที่เหมาะกับการนอนแบบนี้
– ต้องเดินทางข้ามโซนเวลาบ่อย ทำให้ต้องปรับตัวเรื่องการนอน
แต่สำหรับ คนทั่วไปที่ต้องทำงาน 9 โมงเช้า–5 โมงเย็น หรือเรียนหนังสือ การตื่นมานอนทีละ 90 นาทีวันละหลายรอบ มันแทบเป็นไปไม่ได้
– อาจทำให้สมองเบลอและเสียสมาธิ เพราะต้องตื่นกลางวันหลายครั้ง
– ไม่มีหลักฐานว่ามันดีกว่าการนอนเต็มรอบ 7–9 ชั่วโมง
– อาจทำให้ร่างกายอ่อนล้าในระยะยาว
พูดง่าย ๆ คือ Polyphasic Sleep เหมาะกับนักกีฬาที่มีตารางเวลาพิเศษ แต่มันไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกคน คนที่ทำงานหรือเรียนส่งผลต่อชีวิตประจำวันนะ

3. การนอนที่ดีควรเป็นแบบไหน?
ผมอยากให้ทุกคนจำไว้นะ 3 ปัจจัยนี้ ถ้าอยากนอนให้ดีลองทำดูครับ
– ปริมาณ (Quantity) ควรนอนวันละ 7–9 ชั่วโมง
– คุณภาพ (Quality) ต้องมีช่วงหลับลึกและ REM Sleep เพียงพอ
– ความสม่ำเสมอ (Consistency) นอนและตื่นเวลาเดิมทุกวัน
– คนส่วนใหญ่ควรเลือก Monophasic Sleep (นอนเต็มรอบ 7–9 ชั่วโมง)
– หรือถ้าจำเป็น อาจลอง Biphasic Sleep (งีบสั้นตอนกลางวัน + นอนกลางคืน)
– ถ้าง่วงกลางวัน ให้ลอง Power Nap (งีบ 10–30 นาที) ช่วยให้สดชื่นขึ้นโดยไม่ส่งกระทบการนอนกลางคืน

4. ถ้านอนไม่พอ จะเกิดอะไรขึ้น?
ถ้าคุณอดนอนหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ มันส่งผลเสียมากกว่าที่คิดนะ เช่น
– สมองเบลอ ความจำแย่ เพราะสมองไม่ได้พักเต็มที่
– ร่างกายอ่อนแอ ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้ป่วยง่าย
– อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เครียดง่าย
– ฮอร์โมนเสียสมดุล อาจทำให้อ้วนขึ้น เพิ่มความเสี่ยงเบาหวาน และโรคหัวใจ
– ออกกำลังกายไม่เวิร์ก กล้ามเนื้อฟื้นตัวช้ากว่าเดิม คนที่กำลังลดก็อาจจะยากขึ้น
ถึงจะเป็นนักกีฬามืออาชีพ ส่วนใหญ่ ยังได้รับคำแนะนำให้นอน 7–9 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีที่สุด

5. หมอแนะนำยังไงให้การนอนดีขึ้น?
ถ้าอยากนอนหลับสนิทและตื่นมาสดชื่น ลองทำตามนี้ดู
– นอนให้ครบ 7–9 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วง 22.00–06.00 น.
– เลี่ยงแสงสีฟ้าก่อนนอน งดเล่นมือถือ ทีวี หรือคอมพ์ก่อนนอนอย่างน้อย 30 นาที
– งดกาเฟอีนและแอลกอฮอล์ตอนเย็น เพราะมันไปรบกวนการหลับลึก
– ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกก่อนนอน 3–4 ชั่วโมง
– สร้างบรรยากาศให้เหมาะสม ห้องนอนควรมืด เงียบ และอุณหภูมิไม่ร้อนเกินไป

สรุปนอนแบบโรนัลโดดีจริงไหม? ควรทำตามหรือเปล่า
– “Polyphasic Sleep“ อาจช่วยให้นักกีฬาฟื้นตัวไวและปรับตัวกับตารางแข่งได้
– แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถทดแทนการนอน 7–9 ชั่วโมงได้ในระยะยาว
– ไม่เหมาะกับคนทั่วไปที่มีตารางชีวิตปกติ
ถ้าคุณไม่ได้เป็นโรนัลโด การนอนให้พอและมีคุณภาพ ยังคงเป็นทางเลือกที่แนะนำนะ…

ขอบคุณข้อมูล : @หมอเจด