ถือเป็นการส่งสัญญาณที่มีน้ำหนักพอสมควร หลัง “นายมนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะ คณะกรรมการประสานงานคณะรัฐมนตรี (วิป ครม.) กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียวว่า เดิมทีพรรคร่วมฝ่ายค้านจะอภิปรายรัฐมนตรีหลายคน ก็ได้มีการประสานเตรียมเวลาไว้เพื่อที่ฝ่ายค้านจะได้ใช้เวลาในการตรวจสอบ ซักถามรัฐมนตรีแต่ละรายได้ครบถ้วน เมื่อยื่นญัตติในส่วนนายกฯ เพียงคนเดียวนั้น ก็มองว่าเวลาที่เหมาะสมน่า จะใช้เพียง 1 วัน แล้วลงมติหลังเที่ยงคืนในวันเดียวกันนั้นเลย ก็คงเพียงพอแล้ว เนื่องจากนายกฯ เพิ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ มาเพียง 6 เดือนเศษเท่านั้น

ขณะที่ “นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ก็ยังออกมายืนยันว่า เป้าหมายพรรค พท. จะให้อภิปรายไม่ไว้วางใจ แค่วันเดียวพอแล้ว เพราะอภิปรายนายกฯ คนเดียว จะไปใช้เวลา 5 วัน ตามที่ขอไม่ได้ ถ้าจะพูด 5 วัน ต้องอภิปราย 10 คน ถ้าอภิปรายคนเดียว วันเดียวก็พอแล้ว ใส่ให้เต็มที่ให้จบในวันเดียว ไม่ต้องมาขี่ม้าเลียบค่าย คงให้อภิปรายในวันที่ 24 มี.ค.วันเดียว หลังเที่ยงคืนก็โหวตเลย ไม่ต้องไปรอลงมติวันรุ่งขึ้น แต่คงต้องรอหารือกันในที่ประชุมวิปรัฐบาลวันที่ 3 มี.ค. อีกครั้ง จะเห็นตรงกันหรือไม่ เชื่อว่าจะเห็นไปทางเดียวกัน จากนั้นค่อยมาตกลง กรอบเวลาซักฟอก ในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เรายืนยันจะให้อภิปรายวันเดียว ถ้าฝ่ายค้านไม่ยอมก็เป็นเรื่องฝ่ายค้าน ไล่ตอบคนเดียวทุกเรื่องคงไม่ไหว เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านมองว่า รัฐบาลใจแคบให้อภิปรายวันเดียว ต่างจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้เวลาอภิปรายหลายวัน นายวิสุทธิ์ ตอบว่า รอให้ฝ่ายค้านเป็นรัฐบาลก่อน ค่อยให้เวลา 4-5 วัน การให้นายกฯ หรือรัฐมนตรีทุกคนมารวมอยู่ที่สภา 5 วัน ทำให้การทำงาน บริหารประเทศหยุดชะงัก

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ส่วนการกล่าวพาดพิง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระหว่างการอภิปรายนั้น จะพิจารณาด้วยเหตุผล ไม่ประท้วงพร่ำเพรื่อ ไม่ถึงขั้นเอ่ยชื่อนายทักษิณ ไม่ได้เลย ถ้าพูดว่านายทักษิณ เป็นพ่อของนายกฯ ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นข้อเท็จจริง แต่ถ้าอภิปรายว่า นายทักษิณ ครอบงำนายกฯ ยอมไม่ได้ เพราะเป็นการกล่าวหาบุคคลภายนอกที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ต้องประท้วง เพราะผิดข้อบังคับ การประชุม การที่ลูกจะรับฟังความเห็นพ่อที่เป็น อดีตนายกฯ 2 สมัย ไม่ใช่เรื่องการบงการครอบงำในพรรค ทำไมลูกจะฟังความเห็นพ่อไม่ได้ เราไม่ใช่จะปกป้องนายกฯ โดยไม่ดูข้อเท็จจริง
ด้าน “น.ส.ภคมน หนุนอนันต์” รองโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ระบุว่าพรรคฝ่ายค้าน ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 151 เวลาในการอภิปรายที่เหมาะสมคือ 1 วัน ว่า ยิ่งบ่งบอกว่าญัตติที่เราเขียนไปว่านายกฯ ไม่มีมีความรู้ความสามารถ ไม่มีวุฒิภาวะนั้น เป็นความจริง ซึ่งการแสดงออกแบบนี้เป็นเพราะคุณกลัวว่าสังคมและประชาชนเขาจะเห็นชัดเจนว่าญัตติที่ฝ่ายค้านเขียนไปมันถูกต้อง เพราะพยายามที่จะ บีบเวลาให้น้อยลง เพื่อปิดแผล ปิดสิ่งที่นายกฯ เป็น หากคุณเป็นองคาพยพที่รัก และภักดีต่อนายกฯ จริงๆ ควรเปิดเวทีนี้ให้นายกฯ ได้แสดงศักยภาพและทำให้ประชาชนทั้งประเทศเห็นว่า นายกฯ ไม่ได้เป็นตามข้อกล่าวหานั้นจริง และควรใช้โอกาสชี้แจงในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“คิดว่ามันเป็น ทางลัดและได้ผลที่สุด ให้นายกฯ สามารถที่จะยืนยันว่าปัญหามากมายในประเทศนี้ น.ส.แพทองธาร เอาอยู่ และไม่ได้มีใครที่จะ มาบงการครอบงำ การบริหารประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลทั้งหมด อำนาจทั้งหมด อยู่ที่ตัวนายกฯ คิดว่าระยะเวลา 1 วัน รัฐบาลพรรค พท. ที่เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านในการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ และรัฐบาลเผด็จการนั้น วันนี้คุณขี้ขลาดกว่ารัฐบาลประยุทธ์เสียอีก ประยุทธ์เขายังเปิดโอกาส 4 วัน โดยที่แผลของเขาเต็มไปหมด ทุกคนเห็น แต่เขาก็ยังกล้าหาญ ที่จะเปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านได้ซักฟอก ดังนั้นวันนี้สิ่งที่วิปรัฐบาลกำลังทำ ดิฉันคิดว่า มันคือความกลัว และ การปกป้องนายกฯ ด้วยวิธีนี้ คือการทำร้ายนายกฯ ที่สำคัญที่สุดเมื่อเทียบมาตรฐานกับรัฐบาลประยุทธ์ มาตรฐานคุณต่ำกว่ามาก” น.ส.ภคมน กล่าว
ต้องรอดูว่า ผลการหารือ ของวิปฝ่ายค้านและรัฐบาล จะลงเอยอย่างไร เชื่อว่าข้อเสนอของวิปรัฐบาล ที่จะให้เวลาฝ่ายค้านเพียงวันเดียว เชื่อว่าพรรค ปชน. ในฐานะแกนนำ พรรคฝ่ายค้าน คงไม่มีทางยอมแน่ๆ และถ้าหากรัฐบาลยังดึงดัน ที่จะทำข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปตามตามนั้น ผลเสียก็จะตกอยู่กับ “น.ส.แพทองธาร” เพราะจะถูกครหา ไม่เปิดทางให้ฝ่ายค้าน ตรวจสอบฝ่ายบริหาร อย่างเต็มที่ หรือมีอะไรผิดบังซ่อนเร้นอยู่ จะกลายเป็น บาดแผลติดตัว หัวหน้ารัฐบาลตลอดไป ในประเด็นไม่พร้อมรับการตรวจสอบ

ส่วนประเด็นกรณี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะรับคดีฮั้วเลือก สว. เข้าเป็นคดีพิเศษ และจำเสนอในคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) วันที่ 6 มี.ค. มีท่าทีจาก”นายแสวง บุญมี” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ระบุว่า กกต. และสำนักงาน กกต. ได้ให้ความสำคัญ โดยได้พิจารณาคำร้องการเลือก สว. นับตั้งแต่มีการเลือก สว. ซึ่งได้แยกกลุ่มเฉพาะที่เป็น การซื้อเสียง และ ฮั้วการเลือก สว. คือ เสนอให้ ว่าจ้าง เรียกรับ ฮั้ว จัดตั้ง โพยเลขชุด บล็อกโหวต คะแนนสูงผิดปกติ คะแนน 0 เพราะเห็นว่าเป็นคำร้องที่มีลักษณะพิเศษ มีความสลับซับซ้อน และมีการกระทำเป็นกระบวนการ โดยมีคำร้องที่ อยู่ในกลุ่มนี้ 220 คำร้อง และรับเป็นสำนวนเพื่อสืบสวนและไต่สวน
นายแสวง กล่าวอีกว่า การดำเนินการเมื่อมีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย กกต. เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายแล้ว กกต. มีอำนาจในการแต่งตั้ง เจ้าพนักงานจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ มอบหมายให้หน่วยงานอื่น ของรัฐทำหน้าที่แทนไว้ กรณีที่เป็นการ กระทำกรรมเดียว แต่ผิดหลายบท หน่วยงานอื่นของรัฐหรือพนักงานสอบสวนจะรับเรื่องไว้พิจารณาก็ต้องพิจารณาว่ากฎหมายได้ ให้อำนาจไว้หรือไม่ หากกฎหมายให้อำนาจไว้ ก็มีอำนาจในการรับเรื่องไว้ดำเนินการเองได้เลย

นั่นหมายความว่า กกต. มีอำนาจใน การแต่งตั้งเจ้าพนักงาน จากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้มอบหมาย ให้หน่วยงานอื่นของรัฐ ทำหน้าที่แทนไว้ ต้องรอดูว่า กพค. จะเดินหน้ารับเรื่องนี้ ไว้เป็นหรือไม่ ซึ่งอาจเสี่ยงกับการถูกดำเนินคดีตามมาตรา 157

ก่อนหน้านั้น “นายมงคล สุระสัจจะ” ประธานวุฒิสภา ได้ทำหนังสือเลขที่ สว 0001/1036 ถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า เนื่องด้วย คณะสมาชิกวุฒิสภา ได้มีหนังสือลงวันที่ 27 ก.พ. เรื่อง ขอให้ส่งคำร้องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาไต่สวนและดำเนินการกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ เกี่ยวกับการกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรฐานทางจริยธรรม อย่างร้ายแรง ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามความประสงค์ของสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
“ทีมข่าวการเมือง”