เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการส่งชาวอุยกูร์ 40 คน กลับประเทศจีน ว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เต็มไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อนกว่าที่เห็น และประเทศไทยไม่ได้มีทางเลือกมากนัก มีแค่ 3 ประการ คือ 1.ไม่ส่งให้ใคร และคุมขังพวกเขาต่อไปเรื่อยๆ 2.ส่งไปให้ประเทศที่สาม หากมีประเทศใดที่จะแน่วแน่ช่วยเหลือยอมรับอย่างจริงจัง 3.ส่งกลับไปประเทศต้นทาง คือจีน โดยทางเลือกที่ 1 ง่าย แต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เพราะเป็นการกักขังโดยไม่มีความผิดและไม่มีกำหนด ซึ่งเข้าข่ายผิดทั้งกฎหมายของไทยและระหว่างประเทศ และโหดร้ายต่อชะตากรรมพวกเขาอย่างไร้มนุษยธรรมยิ่ง

นายรัศม์ กล่าวอีกว่า ทางเลือกที่ 2 ฟังดูดีที่สุดแต่ยากจะเป็นไปได้จริง เพราะไม่มีประเทศไหนมุ่งมั่นอยากรับจริงๆ อาจมีประเทศที่เคยแสดงท่าทีบ้างแล้วก็เงียบหาย ไม่ได้จะมาแน่วแน่ช่วยเหลืออย่างจริงจังเต็มที่ แม้แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ไม่ได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่คนเหล่านี้ และบางประเทศมาชี้นิ้วห้ามไทยส่งให้จีน แต่ก็ไม่ได้มีข้อเสนอทางเลือกอื่นอะไรให้ และประเทศเหล่านี้ไม่ไปล็อบบี้เจรจากับจีนโดยตรงให้ยอมส่งไปประเทศที่สามได้ รวมทั้งไม่เห็นมีใครมาบอกว่าหากไทยถูกจีนตอบโต้ แล้วเขาจะมาช่วยเหลือไทย เรื่องมันน่าเศร้าที่ประเทศต่างๆ มักหน้าไหว้หลังหลอก ไม่ได้ตั้งใจช่วยเหลือเราจริงจัง มีแต่คำพูดสวยหรู และเก่งกับชี้นิ้วประเทศเล็กๆ อย่างไทยเท่านั้น

“ขณะที่การส่งตัวไปประเทศที่สาม ไทยอาจต้องเผชิญกับการตอบโต้จากฝ่ายจีน โดยไม่มีประเทศไหนจะยื่นมือมาช่วยเหลือ ซึ่งอาจส่งผลกระทบระดับรุนแรงต่อประชาชนคนไทยจำนวนมากที่ไม่ควรต้องมารับผลด้วย คำถามจึงคือคนไทยพร้อมจะเผชิญสิ่งนี้หรือไม่เพียงใด การส่งตัวไปประเทศที่สาม แม้ฟังดูดีแต่ในความเป็นจริงยากจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าพรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาลไทยก็ตาม นี่คือความเป็นจริง” นายรัศม์ กล่าว

นายรัศม์ กล่าวอีกว่า ทางเลือกที่ 3 แม้อาจฟังดูโหดร้าย แต่โดยที่ทางการจีนได้มีหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการต่อความปลอดภัยของคนเหล่านี้ตามที่ไทยขอ ซึ่งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยไม่มีเหตุผลที่จะไม่เชื่อสิ่งที่จีนรับรองอย่างเป็นทางการ และแม้หลายฝ่ายอาจไม่เชื่อจีน แต่เมื่อเขามีหนังสือรับรองเป็นทางการแล้ว เขาก็มีพันธะที่ต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ทำตามนั้น ก็เท่ากับผิดคำพูด และย่อมเป็นผลเสียต่อจีน ซึ่งจีนเป็นประเทศมหาอำนาจ ก็จำเป็นต้องรักษาคำพูดของเขาเช่นกัน ในอีกแง่หนึ่ง การส่งกลับไปจีนเป็นเรื่องมนุษยธรรมได้เช่นกัน เพราะการกักขังเขาโดยไม่มีความผิดและไม่มีกำหนดนั้น ยิ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไร้มนุษยธรรมยิ่งกว่า

“เมื่อพิจารณาจากทางเลือกทั้ง 3 ประการ การส่งตัวกลับจีนโดยได้รับการรับรองความปลอดภัยอย่างเป็นทางการ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่ไทยพอทำได้ และยังดีกว่าขังพวกเขาไปเรื่อยๆ จนตายคาห้องขัง อย่างไร้มนุษยธรรม ซึ่งอาจไม่ถูกใจหลายคน และเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ไทยไม่ได้เป็นผู้ก่อปัญหานี้ขึ้นมาแต่แรก และเรื่องนี้เอาแต่พูดสวยหรูโก้ๆ ไม่ได้ เพราะเกี่ยวพันกับชีวิตปากท้องประชาชนคนไทยโดยรวมด้วยเช่นกัน การที่ไม่มีประเทศใดจะยื่นมือมาช่วยเราจริง และก็ยอมรับว่าจริงๆ มันน่าเศร้า และใจผมก็ไม่ได้อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น แต่นึกไม่ออกว่าแล้วจะให้ทำอย่างไร” นายรัศม์ กล่าว