หลายคนยังคงสงสัยกับคำถามว่าทำไม รถบัส 2 ชั้น ถึงอันตรายกว่ารถบัสชั้นเดียว สาเหตุสำคัญมาจากจุดศูนย์ถ่วง (Center of Gravity) หรือจุด C.G. ของรถบัส 2 ชั้น อยู่สูงกว่ารถบัสชั้นเดียว ยิ่งมีผู้โดยสารนั่งด้านบนมาก ความสูงของจุดศูนย์ถ่วงก็จะอยู่ในตำแหน่งสูงขึ้นไปอีก ทำให้รถบัส 2 ชั้น มีโอกาสพลิกคว่ำได้ง่ายกว่า

ว่าด้วย “ค่าเสถียรภาพในการทรงตัว” Static Stability Factor (SSF) = T/2H เมื่อรถมีผู้โดยสารนั่งด้านบนมากความสูงของจุด C.G.(H) จะมากขึ้น ส่งผลให้ SFมีค่าน้อย (SSF แปรผกผันกับ H, ยิ่ง H มากหรือสูงจะทำให้รถพลิกคว่ำง่ายกว่า) SSF มีค่าต่ำยิ่งอันตราย จึงมีโอกาสพลิกคว่ำมากขึ้น
คำถามที่ว่าในประเทศไทยมีอุบัติเหตุเกิดกับรถบัสมากมาย ทำไมถึงคิดว่ารถบัส 2 ชั้นเกิดอุบัติเหตุมากกว่า นั่นก็เพราะว่าเมื่อเทียบอัตราการเกิดอุบัติเหตุกับจำนวนรถจดทะเบียน อ้างอิงข้อมูลจากสำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก ปี 2560 พบว่า
รถโดยสารชั้นเดียว จดทะเบียน 94,096 คัน เกิดอุบัติเหตุ 191 เคส มีผู้เสียชีวิต 30 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตต่อรถจดทะเบียน 10,000 คัน เท่ากับ 3.2
ขณะที่รถโดยสาร 2 ชั้น รถจดทะเบียน 7,300 คัน เกิดอุบัติเหตุ 107 เคส มีผู้เสียชีวิต 24 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตต่อรถจดทะเบียน 10,000 คัน เท่ากับ 32.9

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่ารถบัส 2ชั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ มากกว่ารถโดยสารชั้นเดียวถึง 7 เท่าและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต สูงกว่าถึง 10 เท่า
จากข้อมูลยังพบด้วยว่า รถบัส 2 ชั้น มักเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี ซึ่งก็คือ “ไม่ชนกับใคร” แต่จะเป็นการเสียหลักแล้วชนกับวัตถุข้างทาง ไม่ว่าจะเป็น การเสียหลักชนคันทาง ชนต้นไม้ชนเสาไฟฟ้า ชนแบริเออร์ หรือการ์ดเรล และจบลงด้วยการพลิกคว่ำในที่สุด
.คู่กรณีที่เกิดอุบัติเหตุกับรถบัสโดยสาร 2 ชั้น ระหว่างปี 2558-2560
▪ ไม่มีคู่กรณี 33%
▪ รถบรรทุก/พ่วง 16%
▪รถจักรยานยนต์ 16%
▪ คู่กรณีมากกว่าหนึ่งคัน 6%
▪ อื่นๆ 9%
▪ รถยนต์ 65 ครั้ง
เนื่องจากผู้โดยสารส่วนใหญ่เกือบ 100% มักไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงกระเด็นออกจากที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็นการกระเด็นหรือกระแทกสิ่งของต่าง ๆ ในตัวรถ รวมถึงกระแทกกับผู้โดยสารด้วยกันเอง หรือแม้กระทั่งกระเด็นออกจากตัวรถ ทำให้มีโอกาสได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตสูงมาก

เพื่อเพิ่มความปลอดภัย นอกจากการคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุจะช่วยรั้งตัวเราไว้กับที่นั่ง ป้องกันตัวเราไม่ให้กระเด็นออกไป ควรหลีกเลียงตำแหน่งที่นั่งบริเวณด้านหน้าตัวรถ เพราะอุบัติเหตุรถบัสส่วนใหญ่ 75% มักเกิดการชนบริเวณส่วนด้านหน้าของตัวรถ เพราะแรงกระแทกจากการชนจะทำให้ตัวรถเกิดความเสียหาย ยุบเข้ามาด้านในของห้องผู้โดยสาร
“เมื่อรถ 2 ชั้นเกิดอุบัติเหตุ ส่วนที่เสียหายมากที่สุด มักจะเป็นโครงสร้างหลังคา ไม่ว่าจะเป็นการยุบเข้าห้องโดยสาร หรือหลังคาลอกออก ทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บจากการกระแทกกับโครงสร้างตัวรถ หรือกระเด็นออกนอกตัวรถ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและบาดเจ็บ”
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลน่าสนใจว่า 80% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถบัสนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่ที่ชำนาญเส้นทางในการขับรถดีอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น กลับไม่สามารถควบคุมรถบัส 2 ชั้นได้ และมักจบลงด้วยการพลิกคว่ำบ่อยครั้ง

มีคำถามว่าทำไม ??รถบัส2 ชั้นในประเทศอื่นถึงไม่อันตราย
ในต่างประเทศใช้รถบัส 2 ชั้นวิ่งในเมืองไม่ว่าจะใช้ในกรณีที่เป็นรถโดยสารประจำทาง หรือรถบัสชมเมือง ซึ่งใช่ความเร็วต่ำบวกกับระยะทางที่วิ่งไม่ไกล
ในประเทศไทยใช้รถบัส 2 ชั้นในการวิ่งส่งผู้โดยสาร ระหว่างจังหวัดหรือระหว่างเมืองซึ่งใช้ความเร็วสูง และเดินทางไม่ไกล จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่า
ข้อมูล : ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)