นอกจากเรื่องการส่งชาวอุยกูร์กลับจีน อภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็มีเรื่องศึก สว.กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่เดือดไม่เลิก ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. พร้อมคณะ สว. ยื่นหนังสือต่อนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ให้พิจารณาส่งเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ มีความผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.157 และผิดจริยธรรม กรณีกล่าวหาการฮั้วเลือก สว. เข้าข่ายความผิดอั้งยี่และฟอกเงิน

นายมงคล สุระสัจจะ ได้ทำหนังสือเลขที่ สว 0001/1036 ถึงประธาน ป.ป.ช.ขอให้ไต่สวนและดำเนินการกับทั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ในเรื่องกระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามความประสงค์ของสมาชิกวุฒิสภา

สำหรับทางฝ่าย กกต. นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ยืนยันว่า กกต.และสำนักงาน กกต. ยังพิจารณาคำร้องเลือก สว.อยู่ แยกเป็นกลุ่มซื้อเสียง และฮั้วการเลือก สว. คือเสนอให้ ว่าจ้าง เรียกรับ ฮั้ว จัดตั้ง โพยเลขชุด บล็อกโหวต คะแนนสูงผิดปกติ หรือได้คะแนน 0 เพราะเห็นว่าเป็นคำร้องที่มีลักษณะพิเศษ มีความซับซ้อน และมีการกระทำเป็นกระบวนการ โดยมีคำร้องที่อยู่ในกลุ่มนี้ 220 คำร้อง ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน

“มีคำร้องเรื่อง สว. และที่รวมถึงความปรากฏ 577 เรื่อง กกต. พิจารณาแล้วเสร็จ 297 เรื่อง ในส่วนของกลุ่มทุจริต เสนอให้ว่าจ้าง เรียกรับ ฮั้ว จัดตั้ง โพย เลขชุด บล็อกโหวต คะแนนสูงผิดปกติ คะแนน 0 กลุ่มนี้ที่มี 220 เรื่อง กกต. พิจารณาแล้วเสร็จ 109 เรื่อง และส่งศาลฎีกา 3 เรื่อง สำหรับการดำเนินการของหน่วยงานอื่น พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มาตรา 42 หากมีกรณีมีความจำเป็น กกต. จะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐให้เป็นเจ้าพนักงาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกาลหรือเฉพาะเรื่องตามที่ กกต. กำหนดก็ได้

แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้มอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐทำหน้าที่แทนไว้ กรณีที่เป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดหลายบท หน่วยงานอื่นของรัฐหรือพนักงานสอบสวนจะรับเรื่องไว้พิจารณา ก็ต้องพิจารณาว่ากฎหมายได้ให้อำนาจไว้หรือไม่ หากกฎหมายให้อำนาจไว้ก็รับเรื่องไว้ดำเนินการได้ กรณีที่สำนักงาน กกต. มีหนังสือถึงดีเอสไอ คือสอบถามว่าได้รับเรื่องการเลือก สว.ที่เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นคดีพิเศษไว้ดำเนินการแล้วหรือไม่ คดีอะไร ก็เพื่อจะได้เสนอ กกต. พิจารณาตามมาตรา 49 ต่อไป”

กล่าวคือ เป็นการถามกลับไปที่ดีเอสไอ ว่า เอาอะไรเป็นคดีพิเศษบ้าง และให้ส่งกลับมาที่ กกต.พิจารณา ว่า เป็นอำนาจของ กกต.หรือไม่ และดีเอสไอมีอำนาจรับคดีฮั้วเลือก สว.ไว้พิจารณาเองหรือไม่ คงดึงเช็งกันสักพัก

ส่วนเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ปัญหาส่วนไหนก็หยิบออกมาเป็นรูปธรรม ไม่ต้องใช้วาทะ วาจาส่อเสียดให้เกิดความไม่เข้าใจในสังคม ส่วนที่ฝ่ายค้านล็อกเป้าไปที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนเดียว และอาจพาดพิงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้น

“การไปดึงคนนอกมาก็เพื่อหวังผลทางการเมืองของตัวเอง นายทักษิณไม่ใช่นายกฯ สส.ไม่มีอำนาจไปซักฟอกเขา ไม่ต้องจัดทีมช่วยนายกฯ ขอให้ถามตรงประเด็น อย่าถามอะไรไปเรื่อย ให้เกิดความคลางแคลงใจในตัวรัฐบาล เพราะวันนี้ประเทศอาการหนัก ไม่ได้พูดให้กลัว อย่าพยายามเอาชนะทางการเมือง อย่าหวังผลคะแนนเลือกตั้งครั้งหน้า และใช้เกมทรงการเมืองมาทำลายเครดิตกัน และอย่าเพิ่งไปถึงขั้นคิดว่าจะยุบสภาตามที่ฝ่ายค้านตั้งเป้า” นายภูมิธรรม กล่าว

สำหรับภารกิจของ “นายกฯ อิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับนางเฮเลนา เลิร์ช รองประธานนโยบายสาธารณะ บริษัท ติ๊กตฌอก (TikTok) และคณะ เนื่องในโอกาสเยือนประเทศไทย พร้อมประกาศลงทุน 3 แสนล้านบาท (8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยจะลงทุนอย่างต่อเนื่อง 5 ปี และมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของไทย โดยเฉพาะการตั้ง Data Hosting (ศูนย์เก็บข้อมูล) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการข้อมูลของผู้ใช้ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่ “อดีตนายกฯ แม้ว” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบกับทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่บ้านพิษณุโลก เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา นายทักษิณเตรียมจะมาทำงานในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลหรือไม่ นายกฯ อิ๊งค์ไม่ได้ตอบคำถาม และเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าในทันที

จากข้อร้องเรียนว่า กลุ่มทุนต่างชาติกว้านซื้อคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง ก่อนนำมาปล่อยให้เช่ารายวันแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันออนไลน์ Airbnb ซึ่งผู้อยู่อาศัยร้องเรียนว่า นักท่องเที่ยวมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัย โวยวาย เสียงดัง สูบกัญชา การใช้ทรัพย์สินส่วนกลางในพื้นที่คอนโดมิเนียมจนเสียหาย นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า กลุ่มทุนพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายการปล่อยเช่าคอนโดมิเนียมรายวันด้วยการซ่อนคีย์การ์ดหรือกุญแจห้องไว้ตามตู้เก็บของและกล่องติดตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนำมาปล่อยให้เช่ารายวันแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านแอป Airbnb โดยไม่ได้รับอนุญาตเปิดเป็นโรงแรม

ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 มีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท และทำการปรับรายวัน 10,000 บาท จนกว่าจะเลิกดำเนินกิจการ กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดสั่งการให้กรมการปกครองลงพื้นที่เข้าตรวจสอบสถานที่คอนโดมิเนียมย่านต้องสงสัย หากพบว่ามีการกระทำความผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดพร้อมขยายผลถึงเครือข่ายกลุ่มนายทุนต่างชาติทุกกลุ่ม เอาผิดถึงที่สุด

เรื่องทุนต่างชาติกว้านซื้อคอนโดฯ นี่พูดกันหลายครั้งแล้ว ก็ขอให้เอาจริงไปพร้อมๆ กับปราบคอลเซ็นเตอร์.

“ทีมข่าวการเมือง”