ผศ. นพ.ปิลันธน์ ใจปัญญา ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูล ว่า อาการปวดหลัง ที่หลายคนกำลังประสบปัญหาในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัยเรียน วัยทำงาน หรือวัยสูงอายุ ซึ่งบางคนอาจไม่ได้มีอาการปวดรุนแรงมากนัก เมื่อเวลาผ่านไปสามารถหายเองหรือบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองจากการรับประทานยาและท่าบริหารยืดกล้ามเนื้อส่วนหลัง แต่ในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการปวดรุนแรงเป็นระยะเวลานานจนเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการปวดหลังในลักษณะนี้มีความจำเป็นที่ต้องไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและการรักษาที่ถูกต้อง
อาการปวดหลัง เกิดจากอะไร ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง
- บาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา
- ภาวะกระดูกพรุนหรือเปราะบาง
- ความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิด เช่น กระดูกสันหลังคด
- ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวที่มากเกินไป
- การนั่งทำงานนาน ๆ หรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
- ขาดการออกกำลังกายทำให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังไม่แข็งแรง
- ยกของ ใช้แรงผลักหรือดึงทำให้กระดูกสันหลังบิด
- โรคอื่น ๆ ที่ทำให้ปวดร้าวมาที่หลัง เช่น โรคไต โรคเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก

ปวดหลัง แบบไหนที่เสี่ยงอันตราย อาการปวดหลังที่บ่งบอกว่าเสี่ยงอันตรายและควรรีบพบแพทย์ทันที ได้แก่
- อาการปวดหลังเรื้อรังติดต่อกันเป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือน
- ปวดแบบเฉียบพลันอาการไม่ทุเลาเมื่อได้พัก
- อาการปวดจนต้องตื่นมากลางดึก
- ปวดหลังร้าวลงสะโพก ขา น่อง หรือเท้า
- ปวดรุนแรงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
- อาการปวดหลังจากการได้รับบาดเจ็บหรือหกล้ม
- ปวดร่วมกับอาการต่อไปนี้
- ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
- ขาอ่อนแรง
- ชาบริเวณเท้า ขา หรือรอบทวารหนัก
- คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้
- น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ
อาการปวดหลัง บอกโรคอะไรบ้าง ?
อาการปวดหลังสามารถแบ่งออกได้หลายส่วน ได้แก่ ส่วนบน ส่วนด้านซ้าย ด้านขวา และส่วนล่าง ซึ่งอาการปวดหลังในแต่ละส่วนสามารถบอกได้ว่ามีความเสี่ยงโรคอะไรบ้าง
อาการปวด หลังส่วนบน
อาจมีอาการที่ร่วมกับอาการปวดคอ บ่า ไหล่ แขน และมืออ่อนแรงร่วมด้วย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น การนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาการปวดหลังส่วนบนอาจเสี่ยงโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมทับเส้นประสาท โรคหมอนรองกระดูกคอ หรือโรคของกล้ามเนื้อ เช่น ออฟฟิศซินโดรม
อาการปวดหลัง ด้านซ้ายหรือด้านขวา
ส่วนใหญ่มักเกิดจากกล้ามเนื้อที่หลังผิดปกติ ข้อต่อกระดูกส่วนอก ประสบอุบัติเหตุ เกิดการกระแทก หรือยกของหนักมากเกินไป ทำให้อาจมีความเสี่ยงโรคกระดูกซี่โครงอ่อนบาดเจ็บรวมไปถึงโรคของกล้ามเนื้อร่วมด้วย
อาการปวดหลัง ช่วงเอวหรือส่วนล่าง
อาจมีสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง ใช้เวลาไปกับการนั่งหรือยืนนานเกินไป มีน้ำหนักตัวที่มากเกิน และยังเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่อาจพบได้บ่อย เช่น โรคหมอนรองกระดูก กระดูกสันหลังติดเชื้อ หรือการผิดรูปของกระดูกสันหลัง นอกจากนี้อาการปวดหลังส่วนล่างก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากมีอาการปวดหลังส่วนล่างเป็นระยะเวลานานควรรีบเข้ามาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

วิธีบรรเทาอาการปวดหลัง เบื้องต้น
อาการปวดหลังที่เกิดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งเนื่องจากเคลื่อนไหวผิดท่า หรือจากการนั่งทำงานเป็นเวลานานสามารถบรรเทาอาการปวดหลังเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ดังนี้
ประคบร้อนและเย็นเพื่อลดอาการปวดหลัง
การประคบเย็นจะมีส่วนช่วยลดการอักเสบได้ดี แนะนำประคบเย็นในช่วงที่เพิ่งเริ่มปวดหรืออักเสบ 48 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นให้เปลี่ยนเป็นประคบร้อนแทน โดยวางถุงน้ำแข็งลงบนบริเวณหลังที่มีอาการปวดไว้ 20 นาที ทุก ๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งการประคบร้อนจะบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ช่วยให้หลอดเลือดขยาย การไหลเวียนเลือดดีขึ้นทำให้อาการปวดบรรเทาลงเป็นเวลา 15-20 นาที
รับประทานยาหรือทายาแก้ปวด
เมื่อมีอาการปวดหลังสามารถบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองโดยการรับประทานยาที่ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดหลัง และทาครีมบรรเทาอาการปวดหรือใช้แผ่นแปะที่สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน
พฤติกรรมในชีวิตประจำวันอาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการปวดหลังได้ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมให้มีความเหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ยกของหนักมากเกินไป ปรับระดับโต๊ะทำงานและเก้าอี้ให้มีความสัมพันธ์กัน หรือหลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงเป็นเวลานาน
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
อาการปวดหลังอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุโดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อหลังที่ตึง ซึ่งการออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อหลังมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ป้องกันกล้ามเนื้ออักเสบและการปวดหลังจากการทำกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันได้
วิธีการรักษา อาการปวดหลังกำลังประสบปัญหาอาจมีสาเหตุของอาการมาจากหลายสาเหตุ ทำให้วิธีการรักษามีความแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- รักษาด้วยการรับประทานยาแก้ปวด
- ทายานวดเพื่อลดอาการปวด
- ทำกายภาพบำบัด
- ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง
- เปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงาน
- ควบคุมน้ำหนัก
- รักษาด้วยการฉีดยาลดการอักเสบ
- ผ่าตัดเพื่อลดการกดทับเส้นประสาท
อาการปวดหลังที่พบส่วนใหญ่อาจเกิดจากกล้ามเนื้อที่หลังอักเสบ จากพฤติกรรมความเคยชินในชีวิตประจำวัน เช่น การนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การยกของหนักในท่าทางที่ผิด หรือการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวผิดท่า ซึ่งสามารถให้ดีขึ้นได้จากการรับประทานยาหรือทายาบรรเทาอาการปวด สามารถดูวิธีรักษาอาการปวดหลังเพิ่มเติมได้ที่นี่
ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเรื้อรังมากกว่า 3 เดือน โดยไม่สามารถบรรเทาอาการปวดด้วยการทายาหรือรับประทานยาร่วมกับอาการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น จำเป็นต้องรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป