เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และบัญชีม้า ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูประเทศ แถลงว่า อนุ กมธ. เชิญตำรวจไซเบอร์ รายงานสถิติเคสเดือน ม.ค. โดยมีมากกว่า 3 หมื่นกรณี ในการแจ้งความอายัดบัญชีไปแล้วกว่า 1 หมื่นบัญชี อายัดเงิน 448 ล้านบาท โดยความเสียหายในเดือน ม.ค. กว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถอายัดได้ทันกว่า 1,500 ล้านบาท โดยการหลอกลวงที่เกิดความเสียหายสูงสุดคือการหลอกลวงลงทุนออนไลน์ และกรณีหลอกลวงโอนเงินด้วยการข่มขู่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นายชุติพงศ์ กล่าวว่า ตอนนี้มีข้อมูลว่าบัญชีม้ามีหลายประเภท เช่น ม้าใน เป็นบัญชีภายในของกระบวนการคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้รับโอนเงินปลายทาง และบัญชีม้านอก เป็นบัญชีของประชาชนที่ถูกหลอกให้เปิดบัญชีตัวกลางการโอนเงิน ส่วนใหญ่กลายเป็นสแกมเมอร์ด้วยความไม่สมัครใจ และยังมีบัญชีม้าต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ด้วยการหลอกแรงงานผ่าน MOU ก่อนจะลอยแพทิ้ง และบัญชีม้าเด็ก ที่ผู้ปกครองเปิดบัญชีให้ เพราะไม่ต้องพกเงินสด และถูกหลอกให้ทำงานออนไลน์

นายชุติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ยังมีปัญหาในการดำเนินคดี เนื่องจากรวบรวมหลักฐานไปจนถึงเส้นเงินปลายทางทำได้ยาก ทำให้อัยการไม่รับฟ้อง และศาลไม่รับฟ้อง จนทำให้ผู้เสียหายมีจำนวนลุกลามบานปลายเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้บัญชีเงินคริปโต ซึ่งไม่ทราบว่าผู้ถือกระเป๋าเป็นผู้ใด โดยกรรมาธิการได้หยิบยกกรณีผู้สูงอายุในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ถูกหลอกเงินโอนไปที่เมียวดี และปลายทางอยู่ที่ห้วยขวาง กรุงเทพฯ ซึ่งจะตามต่อ

นายชุติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนข้อมูลจากมูลนิธิอิมมานูเอล ให้ข้อมูลเรื่องหลอกไปทำงานออนไลน์ ที่ดูเหมือนเป็นการสมัครใจ หลอกไปทำงานบัญชีโดยรับสมัครแอดมิน ซึ่งเห็นในเว็บไซต์รับสมัครงานจำนวนมาก โดยจะเป็นการหลอกให้ข้ามแดนไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ยึดพาสปอร์ตและบังคับให้ทำงาน หากไม่ทำงาน จะถูกทำร้ายร่างกาย หากเป็นผู้หญิงจะถูกข่มขืนและบังคับทำงาน หากทำไม่ได้ตามเป้าจะถูกฆาตกรรม ซึ่งล่าสุดเมื่อวานนี้มีเสียชีวิต 1 คน หากทำไม่ได้ตามเป้า จะถูกขายต่อเป็นขบวนการค้ามนุษย์ โดยพาข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติหลายจุดฝั่งกัมพูชา

นายชุติพงศ์ กล่าวต่อว่า ตนตั้งข้อสังเกตเรื่องการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีการตัดแล้ว ว่าอาจไม่ได้ตัดจริงจากที่ได้รับข้อมูลมา เพราะมีสายส่งสัญญาณที่ถูกกฎหมาย 5 เส้น แต่เส้นส่งสัญญาณข้ามไปยังกัมพูชามี 20 เส้น โดยไม่ทราบในรายละเอียดว่าเป็นของบริษัทใด ซึ่งการส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นับว่าเป็นการหล่อเลี้ยงขบวนการค้ามนุษย์ที่มีพฤติกรรมอาชญากรรมทำให้มีการเติบโต กลับมาหลอกลวงคนไทยจนเกิดผู้เสียหายจำนวนมาก

“จำนวนของคนไทยเท่าที่ทราบที่ถูกกักขังซ้อมทรมาน และไม่รู้จะมีชะตาชีวิตอย่างไร ยังมีอยู่ฝั่งกัมพูชา ณ ปัจจุบัน มากกว่า 3,600 คน โดยทราบพิกัดแล้วในบางส่วนในแต่ละพิกัดที่มีคนไทยถูกหลอกอยู่” นายชุติพงษ์ กล่าว

นายชุติพงศ์ กล่าวว่า ธนาคารยังลอยตัวเหนือปัญหา ในการระงับยับยั้งการโอนเงินในบัญชีที่มีความผิดปกติ และทวงถามความคืบหน้าคือ พ.ร.ก.ไซเบอร์ของรัฐบาล แผนประกันเชื่อว่าทุนเทาที่อยู่บริเวณชายแดน ยังได้รับทรัพยากรในการหล่อเลี้ยงและมาหลอกลวงประชาชนคนไทย และยังไม่มีการดำเนินการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อปราบปรามอย่างจริงจัง ซึ่งส่วนใหญ่การหลอกลวงคนไทยอยู่ในฝั่งกัมพูชา ส่วนฝั่งเมียนมาเป็นการหลอกชาวจีน แต่มีความคืบหน้ามากกว่า พร้อมทวงถามว่าเมื่อไร จะมีการเจรจาดำเนินการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง.