การรับประทานผักให้เพียงพอในแต่ละวันมีความสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพ โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำให้เราควรบริโภคผักและผลไม้รวมกันอย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นและช่วยป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ

แต่การกินผักที่ดีกับวิธีง่ายๆ มีหลากหลาย ควรกินผักแบบหั่น ล้างสะอาด การกินก็ควรค่อยๆ เคี้ยว ไม่รีบร้อนจนเกิดไป ด้วยเพราะอาจส่งผลต่อร่างกายได้

อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เขตหยูหั่ว มณฑลหูหนาน ประเทศจีน เมื่อไม่นานมานี้ นายหวง เจี้ยนกวง อายุ 60 ปี มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและอาเจียนเป็นเลือดโดยไม่ทราบสาเหตุ หลังจากนั้นครอบครัวของเขานำตัวส่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยหนานหัว แพทย์ยังตรวจพบเพิ่มเติมด้วยว่า เขามีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน

เมื่อทำการสืบประวัติอาการเจ็บป่วย พบว่าผู้ป่วยเคยทำการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเมื่อ 12 ปีที่แล้ว และจำเป็นต้องใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดในระยะยาว ดังนั้นแพทย์จึงต้องเร่งหาสาเหตุของการมีเลือดออกในทางเดินอาหาร และหยุดเลือดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

แพทย์หลี่ เจี้ยนฮัว รองผู้อำนวยการแผนกโรคหัวใจของโรงพยาบาล จึงได้ทำการประชุมฉุกเฉินกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร และได้ให้ผู้ป่วยทำการส่องกล้องกระเพาะอาหาร ผลการส่องกล้องพบว่า ทางเข้ากระเพาะอาหารถูกปิดกั้นด้วย ผักชีที่ย่อยไม่หมด ทำให้ระบบย่อยอาหารไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จนเกิดอาการอาเจียนเป็นเลือดและเลือดออกในกระเพาะอาหาร เคราะห์ดีที่พบสาเหตุและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ภายหลังจากฟื้นตัว นายหวง บอกว่า ก่อนจะเข้ารับการรักษา เขาซื้อผักชีมาหนึ่งกำมือเพื่อทำชาบู แต่ไม่ได้หั่นผักชีให้เล็กก่อนจุ่มในน้ำซุป อีกทั้งยังไม่เคี้ยวก่อนกลืนลงไป ทำให้ผักชีไม่ย่อยและเกิดการอุดตันที่ทางเข้ากระเพาะอาหาร

แพทย์หลี่ กล่าวว่า การอุดตันที่ทางเข้ากระเพาะอาหาร มักเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งทำให้การเคลื่อนที่ของอาหารและน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไปยังลำไส้เล็กถูกขัดขวางหรือหยุดชะงักโดยสมบูรณ์ อาการทางคลินิกของโรคนี้คือการอาเจียนและท้องอืด

ในกรณีของนายหวง มีประวัติการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีอายุมากและการทำงานของระบบทางเดินอาหารเริ่มเสื่อมถอย เมื่อผู้ป่วยรับประทานผักชีที่ไม่ได้ปรุงสุกและมีปริมาณมาก ผักชีที่ไม่ย่อยก็ไปอุดตันที่ทางเข้ากระเพาะอาหาร ทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร

แพทย์หลี่ ได้เตือนอีกว่า ผักชีมีเส้นใยอาหารสูง การทานในปริมาณพอดีสามารถช่วยกระตุ้นการเคลื่อนที่ของลำไส้ได้ แต่ถ้าทานมากเกินไปหรือไม่ถูกวิธี (เช่น ไม่เคี้ยวให้ละเอียด ไม่หั่นให้เล็ก ไม่ปรุงให้สุก…) ก็อาจทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานหนักขึ้น และเกิดอาการท้องอืด ท้องเสีย ผักชีมีกลิ่นฉุนและมีความร้อนสูง ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองเยื่อบุในกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดอาการแสบร้อนในกระเพาะ ดังนั้น ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารควรหลีกเลี่ยงการทานผักชนิดนี้

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าในการทานอาหารในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง ทุกคนควรปรุงอาหารให้สุกเต็มที่ ทานอย่างช้าๆ และเคี้ยวให้ละเอียด โดยเฉพาะผู้ที่มีระบบทางเดินอาหารอ่อนแอ และผู้สูงอายุ ควรระวังเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์คล้ายกับนายหวง.