รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา บอร์ด กสทช. ได้มีมติเห็นชอบในกรอบระยะเวลาดำเนินการ (ไทม์ไลน์) และกรอบงบประมาณ ในการจัดสรรคลื่นสำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล หลังจากได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) เผยแพร่ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ 1500 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ 2300 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ในวันที่ 6 ก.พ. และได้ปิดรับฟังความคิดเห็น ไปเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมาแล้วนั้น
โดยไทม์ไลน์ในการจัดประมูลเคลื่นมือถือครั้งนี้ พร้อมกัน 6 คลื่นความถี่ กำหนดไว้ดังนี้ เสนอผลการรับฟังความคิดเห็นต่อคณะทำงานในวันที่ 21-24 ก.พ. 68 และเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นต่อคนะอนุกรรมการ วันที่ 25-28 ก.พ. 68 จากนั้นจะเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นต่อที่ประชุม กสทช. วันที่ 4 มี.ค. 68 และจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6-13 มี.ค. 68
สำหรับการรับแบบคำขอใบอนุญาตฯ และการประมูลคลื่นความถี่ สำนักงาน กสทช. จะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการะมูลระหว่างวันที่ 15 มี.ค.-13 เม.ย. 68 และจะเปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 16 เม.ย. 68 หลังจากนั้น ทางสำนักงาน กสทช. จะตรวจสอบคุณสมบัติ เสนอ กสทช. เพื่อพิจารณาในวันที่ 17-28 เม.ย. 68 และเสนอ กสทช. เพื่อพิจารณาผลการตรวจคุณสมบัติในวันที่ 28 เม.ย.-2 พ.ค. 68 และประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลในวันที่ 6 พ.ค.68
ขณะที่การเตรียมความพร้อมสำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล (Mock Auction) จะจัดขึ้นในวันที่ 8 พ.ค. 68 และกำหนดวันประมูล (Auction) ในวันที่ 17-18 พ.ค. 68 เป็นเวลา 2 วัน หลังจากนั้น จะมีการจัดประชุมบอร์ด กสทช. เพื่อพิจารณารับรองผลการประมูล ภายใน 7 วัน
ทั้งนี้ สำหรับกรอบงบประมาณในการจัดประมูล ได้กำหนดไว้ที่ 70 ล้านบาท แบ่งเป็น
1. ค่าใช้จ่ายสถานที่จัดการประมูล ค่าระบบคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างผู้บริการจัดการงานประมูลและค่าใช้จ่ายสำรองอื่นๆ
1.1 ค่าจ้างเหมาบริการเพื่อจัดงานด้านสถานที่ อาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวก 12 ล้านบาท
1.2 ค่าใช้จ่ายด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบกล้องวงจรปิด 3 ล้านบาท
2. ค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญ
2.1 จ้างผู้รับตรวจคุณสมบัติผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 5 ล้านบาท
2.2 จ้างที่ปรึกษาดำเนินการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 20 ล้านบาท
3. ค่าใช้จ่ายในการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั้งทั้งก่อนและหลังการประมูล 30 ล้านบาท
3.1 จ้างผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประมูล
3.2 จ้างผลิตและเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์คลิปประชาสัมพันธ์ข้อมูล (Infographic Motion clip)
3.3 จ้างผลิตและเผยแพร่ภาพยนต์สั้นรูปแบบไวรัล ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการประมูลคลื่นความถี่
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับในเรื่องราคาตั้งต้นประมูลทั้ง 6 คลื่นที่ประชุมบอร์ด กสทช. ไม่มีได้การหยิบขึ้นมาหารือ คาดว่าจะใช้ราคาประมูลตั้งต้นเดิมที่สำนักงาน กสทช. เสนอมา คือ การประมูลรวมทั้งสิ้น จำนวน 450 เมกะเฮิรตซ์ รวมราคาเริ่มต้นมีมูลค่า 121,026 ล้านบาท ประกอบด้วย คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 6,609 ล้านบาท คลื่น 1500 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 11 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 904 ล้านบาท คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 6,219 ล้านบาท
และความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 12 ชุด ความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 3,391 ล้านบาท ความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 497 ล้านบาท ความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,675 ล้านบาท ความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 100 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท