เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ภาค 1 ได้ออกมาให้ข้อมูลชี้แจงกรณีปรากฏคลิปในสื่อโซเชียลที่แสดงให้เห็นเรือประมงต่างชาติ ลักลอบเข้ามาทำการประมงในเขตทะเลไทย และแล่นเข้าชนเรือหลวงเทพาของกองทัพเรือจนได้รับความเสียหาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 68 เวลาประมาณ 10.10 น. บริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ห่างจากทิศใต้ของเกาะกูด (แบริ่ง 188) ประมาณ 28 ไมล์ทะเล ในจ.ตราด

โดยสรุปเหตุการณ์และการปฏิบัติงาน เมื่อเรือหลวงเทพาเดินทางไปถึงบริเวณดังกล่าว พบบรรดาเรือประมงต่างชาติ 10 ลำ กำลังทำการประมงผิดกฎหมายในเขตน่านน้ำไทย จึงเข้าสกัดจับตามภารกิจบังคับใช้กฎหมายทางทะเล และทันทีที่กลุ่มเรือประมงต่างชาติเห็นเรือของกองทัพเรือ จึงตัดอวนทิ้งและเพิ่มความเร็วเพื่อหลบหนีออกนอกน่านน้ำไทย ขณะไล่ติดตาม เรือประมงลำหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็น “เรือหู” (ช่วยลากอวนในระบบอวนลากคู่) ได้กลับลำและพุ่งเข้าชนเรือหลวงเทพา โดยเจตนาให้เรือประมงลำอื่นหลบหนี

การบังคับใช้กฎหมายและหลักการใช้กำลัง ศรชล. ชี้แจงว่า ภารกิจดังกล่าวเป็นการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่สถานการณ์การรบในภาวะสงคราม ซึ่งตามกฎหมายสงครามอาจมีการใช้กำลังถึงขั้นทำลายได้ทันที ในภารกิจนี้จึงต้องดำเนินการอย่างเหมาะสม ใช้กำลังตามความจำเป็นและตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด โดยกองทัพเรือมี “กฎการใช้กำลังเฉพาะการปฏิบัติการทางเรือ” ที่อิงหลักกฎหมายทั้งภายในและระหว่างประเทศ ผู้บังคับการเรือหลวงเทพาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เรือประมงต่างชาติยังมิได้ใช้อาวุธอันเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงมิได้สั่งใช้กำลังถึงขั้นทำให้ถึงตาย (Deadly Force) ในทันที หากแต่ได้หลบหลีกและยิงเตือนจนสามารถเข้าจับกุมผู้กระทำผิดได้

‘เรือประมงเวียดนาม’ เหิมเกริมพุ่งชน ‘เรือรบไทย’ หลังไล่จับรุกลํ้าน่านนํ้าเข้ามานับ 10 ลำ

ผลการจับกุมและดำเนินคดี หลังจากพยายามพุ่งชนอีกสองครั้ง เรือหลวงเทพายิงเตือนและส่งชุดตรวจค้นเข้าควบคุมเรือประมงลำนั้น พร้อมนำผู้ต้องหา 4 คนมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

นอกเหนือจากการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ. 2482 แล้ว กองทัพเรือยังได้ร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สภ.คลองใหญ่ จังหวัดตราด ให้ดำเนินคดีผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 (ฐานขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย), มาตรา 358 (ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์) และตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 22 (ฐานร่วมกันทำให้เรือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชำรุด)

ศรชล. ยืนยันว่าการดำเนินการในครั้งนี้ เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายและเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างเคร่งครัด พร้อมย้ำถึงความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำประมงที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรในน่านน้ำไทย

บทบาทของ ศรชล. ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติและประชาชน
หากพบเหตุด่วน เหตุร้าย หรือภัยทางทะเล สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน 1465