สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ว่า “เชื้อซูเปอร์บั๊ก” ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ และทำให้การรักษาทำได้ยากมากขึ้น ถือเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนทั่วโลก โดยมีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญว่า อาจส่งผลให้การผ่าตัด อาทิ การผ่าคลอด หรือการเปลี่ยนข้อเทียมอาจอันตรายเกินกว่าจะทำได้

สำนักงานตรวจสอบแห่งชาติ ซึ่งตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ระบุว่า อัตราการติดเชื้อดื้อยาในประเทศเพิ่มขึ้น 13% นับตั้งแต่ปี 2561 แม้มีเป้าหมายทำให้ลดลง 10% ขณะที่โรงพยาบาลในประเทศกำลังขัดขวางความพยายามของบริการสุขภาพแห่งชาติ (เอ็นเอชเอส) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพ (เอเอ็มอาร์)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หน่วยงานของเอ็นเอชเอสเสื่อมโทรมลงอย่างมาก จนโรงพยาบาลบางแห่งและสถานพยาบาลอื่น ๆ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของการแพทย์สมัยใหม่ได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้รวมถึงอาคารหรืออุปกรณ์ที่เก่า และทำความสะอาดได้ยาก รวมถึงขนาดของสถานที่ ซึ่งไม่เอื้อต่อการคัดแยกผู้ป่วยติดเชื้อ

“สหราชอาณาจักรยังคงห่างไกลจากวิสัยทัศน์ 20 ปีที่รัฐบาลได้ประกาศในปี 2562” รายงานระบุ โดยทำสำเร็จเพียงการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร และทำได้ช้ากว่ากำหนดถึง 1 ปี

จากแนวโน้มในปัจจุบัน ซูเปอร์บั๊กอาจคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกได้ถึง 1.9 ล้านรายต่อปี ภายในปี 2593 และเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตให้ผู้คนอีก 8.2 ล้านราย 

อนึ่ง องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ประกาศให้การดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นวิกฤติด้านสุขภาพระดับโลก และได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดหาการรักษาทางเลือกแล้ว.

เครดิตภาพ : AFP