เมื่อเวลา 07.45 น. วันที่ 27 ก.พ. ที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองจอก  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร (สปภ.กทม.) เปิดอาคารที่ทำการสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองจอก โดยเป็นอาคารคอนกรีตสูง 8 ชั้น ภายในอาคารเป็นทั้งสำนักงาน และโรงจอดรถดับเพลิง  รวมถึงชั้นดาดฟ้าสำหรับเป็นหอสังเกตการณ์เวลาเกิดเหตุภัยเพลิงไหม้ ขณะเดียวกันยังเป็นสถานีฝึกกู้ภัยของเจ้าหน้าที่อีกด้วย

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองจอก นับเป็นสถานีดับเพลิงและกู้ภัยแห่งใหม่ของ กทม. ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมในพื้นที่กรุงเทพฯ ในการป้องกันและบรรเทาเหตุอัคคีภัยและสาธารณภัย  จากเดิมมีสถานีหลัก 41 แห่ง ปัจจุบันเพิ่มสถานีหลักอยู่ที่ 43 แห่ง ส่วนสถานีย่อยมีอยู่ 6 แห่ง ซึ่งจะอยู่ตามเขตต่างๆ ปัจจุบันมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการกู้ภัยดับเพลิงประมาณ 2,000 คน


สำหรับ สถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองจอก มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ 42 อัตรา มีรถดับเพลิงและกู้ภัยประจำสถานีตามมาตรฐานและชนิดพิเศษรวม 8 คัน  โดยรับผิดชอบในพื้นที่เขตหนองจอกจำนวน 8 แขวง รวมพื้นที่ประมาณ 236 ตร.ม. มีบ้านเรือนประชาชน 74,000 หลังคาเรือน ประชากรโดยรวม 180,000 คน และมีชุมชนที่รับผิดชอบดูแล 99 ชุมชน จึงจำเป็นต้องมีสถานีดับเพลิงที่ดูแลในพื้นที่ เนื่องจากในปัจจุบันงานกู้ภัยดับเพลิงไม่เพียงแต่จะเข้าไปดับเพลิงอาคารเพียงเท่านั้น รวมไปถึงเหตุอันตรายอื่นๆ ด้วย การช่วยเหลือกู้ภัยประชาชน 


ซึ่งทางสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนในส่วนของการปรับปรุงดูแลสถานีกู้ภัยดับเพลิงต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังต้องดูในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีที่เหมาะสม มาช่วยการทำงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัยดับเพลิง


ส่วนความคืบหน้าการจัดสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัย กรุงเทพมหานคร บริเวณศูนย์การเรียนรู้มหานครหนองจอก นั้น ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ในเดือนสิงหาคมนี้ จะได้ตัวผู้รับเหมาว่าจ้าง  โดยจะมีระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี ซึ่งคาดว่านอกจากจะได้กำลังคนในการมาฝึกด้านกู้ภัยดับเพลิงแล้วยังสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อีกด้วย 


ผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวถึงเรื่องการป้องกันและปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ กทม.โดยเฉพาะรอบสถานศึกษาว่า บุหรี่ไฟฟ้า เป็นเรื่องน่าห่วงและเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งนโยบายการป้องกันและปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่โดยเฉพาะในโรงเรียนนั้น ก็ได้ดำเนินการตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหาร กทม.  เนื่องจากปัจจุบันมีแนวโน้มเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หาซื้อได้ง่าย สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ได้  รูปแบบบุหรี่ไฟฟ้าต่างๆ ที่เข้าถึงกลุ่มเด็กได้มากขึ้น กทม. ก็ได้มีการกำชับดูแลรอบสถานศึกษา โดยใช้อำนาจที่มี เช่น การดูแลร้านค้าหาบเร่แผงลอย รวมถึงการสอดส่องดูแลในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อาจจะลักลอบการขายบุหรี่ไฟฟ้าด้วย  ซึ่งจะต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นด้วย ทั้ง สคบ.และเจ้าหน้าที่ตำรวจในการลงพื้นที่ จึงต้องมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถนำไปสู่การเสพยาเสพติดชนิดอื่นได้


“อีกอย่างได้กำชับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขต และเทศกิจ ต้องมีการประกบติดไปกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติงานหรือออกตรวจพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อป้องกันการลักลอบนำบุหรี่ไฟฟ้าหรือยาเสพติดมาขายให้เด็กนักเรียน รวมถึงต้องทำให้พื้นที่โรงเรียนปลอดบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติดได้ 100%  เบื้องต้นจะต้องไม่ให้มีร้านค้าหรือการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนและพื้นที่รอบโรงเรียน จากนั้นจะขยายไปพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจังเด็ดขาด” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว