วันที่ 27 ก.พ. พรรคประชาชน (ปชน.) และพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือไทยสร้างไทย (ทสท.) พลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นธรรม (ปธ.) จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีต่อประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุระเบียบวาระ เบื้องต้น “รัฐมนตรีเดือน” มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม บอกว่า กรอบเวลาที่ให้อภิปรายคือวันที่ 24-28 มี.ค. ก่อนปิดสมัยประชุมสภา แต่จะให้กี่วันแน่ๆ ต้องคุยกันระหว่างวิปรัฐบาลกับวิปฝ่ายค้าน ซึ่งเหมือนว่าเพื่อไทยจะให้ 2 วันลงมติ 1 วัน
เดิมพรรค ปชน. วางเป้าซักฟอก “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ บวกรัฐมนตรีรวม 10 คน แต่ล่าสุด ทีมยุทธศาสตร์เปลี่ยนแผน ล็อกเป้ายื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ อิ๊งค์คนเดียว ที่ทำเช่นนี้ เนื่องจากข้อสอบรั่ว เกลือเป็นหนอนภายในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งไม่ทราบว่า พรรคใดเป็นอีแอบส่งข้อมูลให้รัฐมนตรี ให้สื่อมวลชน
“ที่จับนายกฯ ขึงพืดคนเดียว เพราะต้องการสั่งสอนรัฐบาลที่จะให้เวลาอภิปรายเพียง 2 วัน จึงจัดหนักนายกฯ คนเดียวไปเลย การอภิปรายรัฐมนตรีบวกนายกฯ รวม 10 คน อาจจะสูญเปล่า อภิปรายไม่เข้าเป้า อีกทั้งยังอาจจะเปิดช่องให้นายกฯ ลอยตัวเหนือปัญหาให้คนอื่นมาตอบแทน และด้วยสภาพสถานการณ์การเมืองขณะนี้ ต้นตอของปัญหาจริงๆ คือรัฐบาลนี้ ยอมแลกผลประโยชน์ของประเทศชาติเพื่อประโยชน์ของตัวเองและครอบครัว จึงต้องถอนรากถอนโคนที่คนคนนี้เพียงคนเดียว และให้นำไปสู่การยุบสภา และขยายผลร้อง ป.ป.ช.เอาผิดบางกระทรวง”
ก็รอดูข้อกล่าวหาในญัตติกัน ว่ามีอะไรบ้าง
จากกรณีที่ประชุม ครม. มอบหมายให้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีส่งเรื่องสอบถามศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับความชัดเจนเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ “เลขาฯ บอย” นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยอมรับว่ามีการประชุมลับเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพราะเราต้องการให้เกิดความชัดเจน ไม่เกี่ยวกับกระแสปรับ ครม. แต่การทำงานของเราต้องแต่งตั้งข้าราชการการเมืองหรืออะไรต่างๆ จึงค่อนข้างเกรงกลัวว่าบุคคลที่จะแต่งตั้งนั้น จะมีปัญหาเรื่องจริยธรรมได้หรือไม่
“ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาในการทำงาน ทำให้ไม่ค่อยราบรื่น โดยเรื่องนี้ไม่ได้โฟกัสเฉพาะรัฐมนตรี แต่รวมถึงข้าราชการการเมืองด้วย พยายามให้สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความชัดเจน ไม่เกี่ยวกับการปรับ ครม.ที่ลือกันว่า จะตั้งนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา พรรคกล้าธรรม เป็นรัฐมนตรี เรายังไม่พูดกันเรื่องปรับ ครม. แค่ต้องการให้เกิดความชัดเจนเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ไม่มีนัยใด”
ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แถลงว่า วันที่ 17 มี.ค. จะประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติขอให้รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ ซึ่งเป็นญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.พรรคเพื่อไทย
หากที่ประชุมเห็นด้วย ก็จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติหรือไม่ และทำกี่ครั้ง หากส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้วอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ทางรัฐสภาก็จะต้องชะลอการพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน หากคำวินิจฉัยออกมาเมื่อไร ทางสภาก็พร้อมเปิดประชุม
สำหรับกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะสอบเรื่องกระบวนการได้มาของ สว.เป็นไปโดยมิชอบ มีการทำโพยฮั้ว ซึ่งจะสอบรวมไปถึงเรื่องฟอกเงินด้วย ที่รัฐสภา นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. กล่าวว่า เราเป็นสถาบันนิติบัญญัติ ดังนั้นอะไรที่มากระทบและผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราก็จำเป็นต้องป้องกันตัวเราให้ประชาชนได้เห็น ข่าวที่ออกไปทำให้ สว.ตกเป็นจำเลยของสังคมเรื่องการได้มาที่ไม่ถูกต้อง
“เบื้องต้นใน กมธ.ที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องเชิญรัฐมนตรี และอธิบดีดีเอสไอเข้ามาทำความเข้าใจกัน ว่าเหตุผลที่ดำเนินการคืออะไร ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มี กมธ.ที่เกี่ยวข้องหลายคณะ เรายังมองว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจของ กกต. เพราะเราดูกฎหมายทุกมาตราแล้ว หากดีเอสไออยากจะเข้ามา ก็ต้องได้รับการร้องขอจาก กกต. ก่อน ขอให้ให้ความเป็นธรรมกับ สว.บ้าง เราไม่ได้ทำอะไรนอกกติกา และไม่กังวลกับหลักฐานจำนวนมากที่จะถูกเปิดออกมา”
“เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีมีรายงานว่า นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นว่า ดีเอสไอไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีฮั้วเลือก สว. เนื่องจากเป็นอำนาจของ กกต. ว่า หากเป็นตนเองในฐานะรัฐมนตรี เวลาจะตัดสินใจอะไรในที่ประชุม ครม. จะต้องฟังเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหลักไว้ก่อน คณะกรรมการนี้ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ที่ปรึกษากฎหมายแห่งรัฐ”
ที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน นายอนุทิน ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีการเลือกตั้งซ่อม สส.บึงกาฬ เขต 2 แทน นายสุวรรณา กุมภิโร อดีต สส.บึงกาฬ พรรคภูมิใจไทย ภายหลังถูกศาลฎีกาพิพากษาสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี และให้มีการเลือกตั้งใหม่ว่า พรรคภูมิใจไทยส่งผู้สมัครแน่นอน แต่ยังต้องหารือว่าจะส่งใคร มีเวลากว่า 1 เดือน และใน จ.บึงกาฬ ส่วนของพรรคภูมิใจไทย มี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ในฐานะแกนนำพรรคภูมิใจไทยดูแลรับผิดชอบอยู่ ภรรยานายทรงศักดิ์ก็เป็นนายก อบจ. คงบริหารจัดการพื้นที่ตรงนั้น
“ขอกราบขอบพระคุณ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ที่มาบอกกับผมว่าพรรคเพื่อไทย จะไม่ส่งผู้สมัครในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อหัวหน้าพรรคคุยกับหัวหน้าพรรคจะได้ความชัดเจน ตอนนี้รักนายกฯ ที่สุด” ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า “แล้วรักพ่อนายกฯ ด้วยหรือไม่” นายอนุทิน ตอบว่า “ทั้งรักทั้งกลัว” ก่อนจะพูดเล่นกับผู้สื่อข่าวว่า “ช่วยซัพพอร์ตผู้ชายคนนี้หน่อยได้ไหมครับ” 3 ครั้ง ตามกระแสโซเชียล
ที่ดีเอสไอ นายอัครวัฒน์ พงศ์ธนาชลิตกุล ตัวแทนกลุ่ม สว.สำรอง และอดีตผู้สมัคร สว. รวมกว่า 20 คน เดินทางมาเพื่อมอบดอกไม้ให้กำลังใจ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ และผู้บริหารกรม ในการรับคดีฮั้วเลือก สว.เป็นคดีพิเศษ โดยวันที่ 6 มี.ค. จะประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การเรียก กกต.มาจะใช้วิธีการประสานงาน ในบางประเด็นอาจจะส่งเป็นเอกสารมา จนกว่าจะถึงวันที่ 6 มี.ค. หาก กกต. ไม่มา ดีเอสไอจะส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการประสานงานก็ได้ ในประเด็นที่เป็นข้อสงสัย ถ้ามีคดีอาญาอื่นที่เป็นความผิดท้าย พ.ร.บ. ดีเอสไอก็รับเป็นคดีพิเศษได้ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ยังมีคำถามบางอย่าง แต่เนื่องจากประธานการประชุมต้องรีบเดินทางไปขึ้นเครื่องบินก็เลยทำให้ยังไม่มีมติ
“หาก สว.จะอภิปรายทั่วไป รมว.ยุติธรรมก็พร้อมชี้แจง อาจมีบางเรื่องที่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ ทาง สว.คงรับได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการสืบสวน ทุกอย่างเป็นไปตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์”
ปิดท้ายด้วยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 26 ก.พ. “สส.ปูอัด” ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. พรรคไทยก้าวหน้า ซึ่งอยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดีการข่มขืนนักท่องเที่ยวหญิงไต้หวัน ที่ จ.เชียงใหม่ ได้ลุกขึ้นหารือในที่ประชุม ถึงปัญหาการขอใบส่งตัวตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทองของประชาชน ว่า มีประชาชนประสบปัญหาขอใบส่งตัวจากคลินิกปฐมภูมิ ไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชไม่ได้ เพราะคลินิกได้แจ้งว่า สิทธิต่อวันเต็มแล้ว เพราะให้วันละ 40 คน ขอให้ รมว.สาธารณสุข ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ด้วย
ถือเป็นครั้งแรก ที่นายไชยามพวานปรากฏตัวในห้องประชุมสภา หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีข่มขืนนักท่องเที่ยวหญิงไต้หวัน ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา