เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการหารือในหลายเรื่อง ซึ่งต่อมา รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ในบอร์ด สปส. ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ที่ประชุมได้ให้นำเรื่องข้อเสนอปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญของผู้ประกันตน กลับไปให้ประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาและปรับปรุง พัฒนาเกี่ยวกับขอบข่ายความคุ้มครองประกันสังคม การจัดเก็บเงินสมทบและการพัฒนาสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมกลับไปศึกษาข้อมูลกลับมาเสนอใหม่ พร้อมระบุว่า ที่ประชุมเห็นว่า สูตรดังกล่าวมีความซับซ้อนรวมถึงมีผลต่อเงินกองทุน อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ยืนยันว่า สูตรคำนวณดังกล่าวมีการศึกษามาแล้วว่า ไม่กระทบกับกองทุน ดังนั้นในการนำกลับมาเสนอครั้งหน้าก็จะยืนยันเช่นเดิม คือการคำนวณจากค่าเฉลี่ยจากฐานรายได้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องของอัตราเงินสมทบ และการจัดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน พบข้อมูลล่าสุดเมื่อปลายเดือน ม.ค. 2568 ซึ่งนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ด สปส. เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ในการประชุมบอร์ด สปส. เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2568 เห็บชอบกฎกระทรวงที่จะปรับปรุงเพดานค่าจ้าง เงินสมทบประกันสังคม เป็นแบบขั้นบันได 3 ขั้น จากเดิม 15,000 บาท เป็น ในปี 2569-2571 สูงสุด 17,500 บาท, ปี 2572-2574 สูงสุด 20,000 บาท และตั้งแต่ปี 2575 เป็นต้นไป สูงสุด 23,000 บาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และมีผู้แสดงความคิดเห็นมากกว่า 2 แสนคน โดย 95% เห็นด้วย ซึ่งได้ส่งกฎกระทรวงเข้าคณะกรรมการกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ก่อนนำเสนอต่อ รมว.แรงงาน พิจารณาก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 4-5 เดือน และจะเริ่มดำเนินการในปี 2569

สำหรับการปรับเพดานค่าจ้าง  สิทธิประโยชน์ประกันสังคมใหม่ในปี 2569-2571 เปรียบเทียบดังนี้ เดิมเพดานค่าจ้างปัจจุบัน สูงสุด 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบประกันสังคมสูงสุด 750 บาทต่อเดือน ปรับใหม่เป็น ค่าจ้าง 17,500 บาท จ่ายเงินสมทบประกันสังคมสูงสุด 875 บาทต่อเดือน ส่วนสิทธิประโยชน์ 6 กรณีปรับดังนี้ คือ 1.เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 7,500 บาทต่อเดือน (250 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 45,000 บาท) ปรับเป็นเงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 8,750 บาทต่อเดือน (291 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 52,500 บาท) 2.เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 22,500 บาทต่อครั้ง ปรับเป็น 26,250 บาทต่อครั้ง 3. เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 7,500 บาทต่อเดือน ปรับเป็น 8,750 บาทต่อเดือน 4. เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 90,000 บาท ปรับเป็น 105,000 บาท 5.เงินทดแทนกรณีว่างงาน 7,500 บาทต่อเดือน ปรับเป็น 8,750 บาทต่อเดือน 6.เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 3,000 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 5,250 บาทต่อเดือน ปรับเป็น กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 3,500 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 6,125 บาทต่อเดือน

ส่วนการปรับเพดานปี 2572-2574 ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,000 บาทต่อเดือน ส่วนสิทธิประโยชน์ ปรับดังนี้ 1. เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 10,000 บาทต่อเดือน (333 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 60,000 บาท) 2. เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 30,000 บาทต่อครั้ง 3. เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 10,000 บาทต่อเดือน 4. เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 120,000 บาท 5. เงินทดแทนกรณีว่างงาน 10,000 บาทต่อเดือน 6. เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 4,000 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 7,000 บาทต่อเดือน

และปรับครั้งที่ 3 ปี 2575 เป็นต้นไป ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 23,000 บาท จ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,150 บาทต่อเดือน 1. เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 11,500 บาทต่อเดือน (383 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 69,000 บาท) 2. เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 34,500 บาทต่อครั้ง 3. เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 11,500 บาทต่อเดือน 4. เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 138,000 บาท 5. เงินทดแทนกรณีว่างงาน 11,500 บาทต่อเดือน 6. เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 4,600 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 8,050 บาทต่อเดือน