เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร มีวาระการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนที่ดินของรัฐ กรณีศึกษาพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยได้เชิญนายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล

โดยนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เราได้ติดตามและเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ในเรื่องของปัญหาที่ดินทับซ้อน ซึ่งมีการลงพื้นที่ของนายธนดล ในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จึงนำมาเป็นกรณีศึกษา  อย่างแรกขอชื่นชมและขอบคุณคณะทำงาน หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาศึกษาและลงพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ กมธ.เองก็ได้ศึกษาปัญหาที่ดินทับซ้อนมาก่อนแล้ว พบว่าที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) หลายแห่งมีทั้งการถูกบุกรุก และใช้ผิดวัตถุประสงค์ จึงได้ขอสอบถามเบื้องต้นถึงขอบเขต และอำนาจในการตรวจสอบ

ด้านนายธนดล ชี้แจงว่า ตนเป็นคณะที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ  และเป็นประธานตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก.ทั้งหมด 72 จังหวัด จากการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตนตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ปี 2534 และใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2518 ลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งตนต้องประสานงานกับปฏิรูปที่ดินจังหวัดก่อนจะลงพื้นที่ และต้องยอมรับข้อเท็จจริงจากการที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่า แทบจะไม่มีผู้ที่ได้รับจัดสรรเป็นที่ ส.ป.ก.และใช้พื้นที่จริง ทำให้กลายเป็นว่ามีผู้อื่นมาใช้พื้นที่ ส่วนใหญ่ตรวจพบเป็นรีสอร์ท ร้านกาแฟ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ทางปฏิรูปที่ดิน ก็จะทำหนังสือเรียกมาชี้แจง สุดท้ายก็จะเป็นดุลพินิจของ ส.ป.ก.ในจังหวัดนั้นๆ ว่าจะเพิกถอนหรือไม่

“ก่อนที่เราจะทำอะไรต่างๆ ต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ละเอียดรอบคอบ  ไม่อย่างนั้นเราไม่กล้าที่จะทำ เวลาเราไปตรวจสอบแต่ละพื้นที่ ก็จะมีผู้มีอิทธิพล อดีตนักการเมือง หรือนักการเมืองท้องถิ่น พร้อมที่จะฟ้องกลับเรามาได้ตลอด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำคือสิ่งที่น้อยคนจะทำจริงๆ เพราะต้องไปเจอผู้มีอิทธิพล ผู้มีอำนาจพิเศษ” นายธนดล กล่าว

นายธนดล กล่าวต่อว่า ตนได้ลงพื้นที่และไปตรวจสอบพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว จึงมาแถลงข่าว แต่ตอนตนแถลงอยู่ในช่วงการเมืองร้อนแรง ก็อาจจะเข้าใจได้ว่า เป็นประเด็นกลั่นแกล้งกันหรือไม่ แต่ยืนยันว่า ตนทำตามหน้าที่และกฎหมาย ไม่ได้มีเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น

นายกรวีร์ กล่าวว่า ตนเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า นายธนดลไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง แต่เป็นจังหวะการเมือง จึงอยากทราบว่า การตรวจสอบที่ดินปากช่องมีหลักเกณฑ์อย่างไร ไม่อย่างนั้น ส.ป.ก.อาจถูกกล่าวหาว่า ทำให้เป็นประเด็นการเมือง

นายธนดล ยืนยันว่า การไปตรวจสอบที่ดินปากช่อง เพราะเป็นที่ดินกลุ่มที่ 3 ตามที่มีการจัดทำหลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One Map) โดยตนไปมาหลายที่ แต่ไม่เป็นข่าว ซึ่งที่ดินปากช่องมีประชาชนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินไม่ได้นำไปทำการเกษตร แต่นำที่ดินที่ได้รับจัดสรรไปขายทำให้ผิดวัตถุประสงค์ ผิดกฎหมาย แต่การที่ชุดตรวจสอบลงพื้นที่ตรวจสอบ ยอมรับว่าไม่ได้เจอการทำผิดทั้งหมด แต่เป็นการทำเพื่อป้องกัน และปราบปราม ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ส่วนที่ดินที่มีปัญหาทับซ้อน จะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรือให้เอกชนเข้ามาใช้พื้นที่ ก็ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งตนพร้อมทำตามกฎหมาย

นายพลพีร์ สุวรรณฉวี สส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ได้ถามว่า ในเมื่อ One Map ยังไม่เสร็จ ก็ไม่ค่อยสบายใจ การไปตรวจสอบเป็นสิ่งที่ถูก แต่เมื่อ One Map ยังไม่เสร็จ ไปตรวจสอบ ก็ต้องรอ One Map อยู่ดี เมื่อให้เกียรติ จ.นครราชสีมา และอำเภอปากช่องในการตรวจสอบ ในฐานะที่ตนเป็นคนโคราช ตนขอถามอธิบดีกรมที่ดิน รวมถึงผู้ชี้แจงทุกคน ว่าในพื้นที่โคราชที่ถูกตรวจ และคาดว่าจะมีธุรกิจที่คาดว่าอยู่ในที่บุกรุกจำนวนเท่าไร

“ที่ผมถาม เพราะเขาใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหญ่มากของ จ.นครราชสีมา มีทั้งคนทำธุรกิจ และเป็นลูกจ้างจำนวนมาก ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไปตรวจแล้วยังไม่สิ้นสุดกระบวนความ มันทำลายปากช่องไปแล้ว วันนี้คนที่จะมาลงทุนก็ไม่อยากมา จริงๆ คนที่ถือโฉนดที่ปากช่อง ก็กลัวขาสั่นกันหมด ปวดหัวว่าสิ่งที่ได้ซื้อมา หรือที่ถืออยู่มันถูกต้องหรือไม่ มองไม่เห็นแสงไฟปลายอุโมงค์ ว่าที่ดินของเราจะโดนหรือไม่ และพอ One Map มา ก็มายื่นคัดค้านกันอีก” นายพลพีร์ กล่าว

นายพลพีร์ กล่าวอีกว่า One Map จะเสร็จในปีนี้หรือไม่ ก็ไม่รู้ ตอนนี้ภาคเหนือก็มีทั้งคาเฟ่ สวนน้ำ ที่พักต่างๆ แต่ก็ไม่เห็นมีตรวจสอบ ตนจึงมองเป็นมิติอื่นไม่ได้จริงๆ และอยากได้คำตอบว่า ควรจะบอกกับคนโคราชอย่างไร ว่าโฉนดที่ถือมา 30-40 ปี เป็นโฉนดปลอมหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพื้นที่โคราช จะไปฟื้นให้เขาอย่างไร 22 ที่ที่ไปไม่ดังเท่าที่นี่ที่เดียว ไม่ต้องถามว่า ทำไมที่นี่ถึงดัง มันมองมิติอื่นไม่ได้

นายพลพีร์ กล่าวด้วยว่า ตนยังมองไม่เห็นว่าประชาชนได้ผลประโยชน์อะไร แต่ที่เห็นคือประชาชนที่เป็นหนี้เป็นสินได้โฉนดมากะว่าจะเอาที่ไปขาย เพื่อเอาเงินเลี้ยงดูครอบครัว หรือฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ทำไม่ได้แล้ว จะทำได้เมื่อไรก็ไม่รู้ ดังนั้นไม่ว่าจะกี่หมื่นไร่ที่คิดว่ามันบวมหรือทับซ้อน ก็บอกมาเลยว่า ธุรกิจที่ไปตรวจมา แล้วมันบวม มันมีกี่ธุรกิจ ประชาชนที่ถูกผลกระทบมีเท่าไร สำคัญที่สุด พื้นที่ราชการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นข้อพิพาททับซ้อน มีพื้นที่ราชการที่ไหนบ้าง เพราะหากที่ราชการบุกรุก แล้วใครโดน การให้บริการประชาชนในพื้นที่จะทำอย่างไรต่อ

นายพลพีร์ กล่าวว่า วันนี้ก่อนที่จะไปตรวจ ควรต้องประชุมให้เสร็จก่อน ยื่นหนังสือให้ประชาชนที่ครอบครองโฉนด หรือเอกสารสิทธิต่างๆ ได้เข้ามาชี้แจงว่า ได้มาอย่างไร รวมไปถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับที่ดินมาคุยกัน เมื่อ One Map ของประเทศยังไม่เสร็จ ก็ขอให้ทำ One Map ของปากช่องก่อน

“ผมไม่ได้เป็นห่วงแรนโชชาญวีร์ หากเพิกถอนเมื่อไร กรมที่ดินก็ต้องชดเชย ไม่ได้ห่วงทอสคาน่า โบนันซ่า แต่เป็นห่วงนาย ก. นาย ข. ที่มีที่ดิน 200 วา หรือ 1 ไร่ จะเดินกันต่ออย่างไร” นายพลพีร์กล่าว

ด้านนายธนดล กล่าวว่า ที่ดิน จ.นครราชสีมาทำ One Map แล้ว แต่ยังไม่ได้โอน ยืนยันว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดิน จ.นครราชสีมาของตนไม่ผิด เพราะถ้าไม่มั่นใจ จะไม่ลงพื้นที่ให้เป็นที่ครหา และยอมรับว่า ที่ดิน ส.ป.ก.มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพไปแล้ว จากการตรวจสอบพื้นที่บวมงอกมาจากนิคมทับที่ ส.ป.ก. จึงเป็นปัจจัยหลักในการลงพื้นที่ไปตรวจสอบ เอกสาร ซึ่งตนเห็นด้วยกับกรมที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิที่ได้จากนิคมฯ คือแต่ประเด็นที่ตนไม่เห็นด้วย คือที่ดินบวมออกไปทับที่ ส.ป.ก.เรื่อยๆ หากวันหน้าที่ดินของรัฐกลายเป็นที่ดินของเอกชน จะเป็นช่องว่างทางกฎหมาย นี่เป็นสิ่งที่ออกมาต่อสู้

ขณะที่นายราชิต สุดพุ่ม สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้ถามนายธนดล ถึงเหตุผลของการไปตรวจสอบที่ดินปากช่อง ว่าเพราะอะไร เนื่องจากปกติ ส.ป.ก.ก็งานเยอะอยู่แล้ว จึงอยากทราบที่มาของการไปตรวจสอบ หากไม่มีคนร้องก็คงไม่ไป ตนไม่ได้เกี่ยวกับใคร ตนอยู่พรรคประชาธิปัตย์ แต่แค่อยากทราบที่มา

นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ สส.สระบุรี พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธาน และโฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีโอกาสไปตรวจในพื้นที่ จ.สระบุรี ก็ต้องขอบคุณที่ไปตรวจสอบบางที่ที่เป็นประเด็น โดยเฉพาะการออกโฉนดทับที่ ส.ป.ก. ซึ่งตนเห็นด้วยกับการที่ต้องนำกลับมาเป็นสมบัติของชาติ แต่ตนไปเห็นในรายการหนึ่ง เปิดประเด็นว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดสัญญาจัดการหุ้นของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบธุรกิจโรงแรมหรูเขาใหญ่ ก็เป็นที่สนใจว่า นายธนดล มีแนวคิด หรือมีโครงการที่จะไปตรวจสอบหลายๆ โรงแรมที่อยู่พื้นที่ติดเขาใหญ่หรือไม่ ตนอยากให้ไปตรวจสอบหลายๆ โรงแรมที่เป็นประเด็นข้อสงสัย เพื่อทำให้ชัดเจนต่อประชาชน

นายธนดล จึงกล่าวว่า เห็นตามข่าวคือโรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ก่อนถึงทางเข้าเขาใหญ่ประมาณ 5 นาที ถ้าให้ตรวจสอบ ก็พร้อมที่จะตรวจสอบ หากอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการอนุญาต แต่ตนมีอำนาจตรวจสอบเฉพาะที่ดิน ส.ป.ก. ไม่ได้มีอำนาจตรวจสอบนิคมฯ

นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ยืนยันว่า กรมที่ดินได้แถลงข่าวชัดเจนไปแล้วว่า ปัญหาทับซ้อนไม่เกี่ยวกับกรมที่ดิน กรมที่ดินน่าจะเป็นปลายทาง เพราะเป็นการทับซ้อนระหว่างที่ดิน ส.ป.ก.และที่ดินนิคมฯ ถ้าผลตรวจสอบเป็นอย่างไร กรมที่ดินซึ่งเป็นปลายทาง ก็พร้อมจะทำตาม แต่ในชั้นดังกล่าวเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว อีกทั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นพื้นที่ยกเว้น เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบของกรมแผนที่ทหาร.