การเมืองไทยยังปกคลุมด้วยอำนาจและบารมีของผู้อยู่หลังม่าน หลังเมื่อวันที่ 24 ก.พ. มีข่าว “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ “นายเนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่ของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จะมีการนัดพบปะกันเพื่อเคลียร์ใจ หลังมีข่าวความขัดแย้งในหลายประเด็นของสองพรรคร่วมรัฐบาล ที่โรงแรมพูลแมน ทำให้สื่อหลายแขนงแห่ไปทำข่าวกันแบบคึกคักเลยทีเดียว และในที่สุดก็เป็นเพียงข่าวปล่อย แต่ก็สะท้อนให้เห็นความเชื่อของคนทั่วไปว่า ผู้มีบารมีตัวจริงของพรรคสีแดงและสีน้ำเงินเป็นใคร ยิ่งกระแสข่าวที่ปล่อยออกมาเกิดขึ้นในช่วงมีการประลองกำลังกันเป็นระยะ ผ่านทั้งการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น หรือการตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต แต่สามารถส่งผลกระทบกับสถานะความเป็นไปของผู้นำทั้งสองพรรคด้วยเช่นกัน อีกทั้ง “นายทักษิณ” ยังมุ่งหวังในการเลือกตั้งปี 70 หากรัฐบาลอยู่ครบวาระ หมายมั่นปั้นมือให้ลูกสาวสุดที่รัก กลับมาทำหน้าที่นายกฯ สมัยที่สอง ดังนั้นอะไรที่เป็นอุปสรรค หรือทำให้ฝันไม่เป็นจริงย่อมต้องหาทางแก้ไข หรือเร่งปัดกวาดให้เส้นทางไร้ขวากหนาม

แม้จะตั้งเป้าต้องได้ 200 เสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ก็ต้องพึ่งพรรคการเมืองอื่นมาร่วมรัฐบาล แต่การให้เพื่อนร่วมงานมีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด จึงอาจเป็นเป้าหมายสูงสุด เพราะการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ผ่านมา ผู้สมัครที่มีความใกล้ชิดพรรค ภท.ก็ได้มาหลายเก้าอี้ แม้ พท.จะคว้าเก้าอี้มากที่สุดก็ตาม อีกทั้งในสนามเลือกตั้งพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งมี สส. อยู่ถึง 130 กว่าคน พรรคสีน้ำเงินก็ได้เก้าอี้ สส.มาเป็นอันดับ 2 ดังนั้นแม้ในการมีพันธมิตรการเมือง “พรรค ภท.” จะเป็นตัวเลือกสำคัญ แต่ผู้มากบารมีเหนือพรรคแกนนำรัฐบาล ก็ไม่อยากให้พรรคสีน้ำเงินเติบโตมากเกินไป เพราะจะมีอำนาจต่อรองมากเกินไป หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบที่มาของ สว. ที่กำลังเป็นประเด็น โดยใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผ่านทางคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ซึ่งแม้จะอ้างว่า มีข้อมูลที่ทำให้เข้าไปหาความจริงได้ แต่ก็ถูกมองว่า เรื่องนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

อย่าลืมว่า อำนาจสำคัญของ สว. นอกจากจะให้ความเห็นชอบเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) กลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบฝ่ายบริหาร อภิปรายทั่วไปตรวจสอบรัฐบาล แต่ที่สำคัญที่สุดคือการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร อย่างเช่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาล รธน. ซึ่งจะมีความสำคัญทางการเมืองมาก ในอดีตที่ผ่านมา ในช่วงบังคับ รธน.ปี 40 กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาเลือกบุคคลที่เข้าไปทำงานในองค์กรอิสระ ซึ่งมีฝ่ายการเมืองเป็นตัวแทนคณะกรรมการสรรหา และในที่สุดก็เกิดปรากฏการณ์บล็อกโหวต ได้บุคคลที่มีความใกล้ชิดฝ่ายการเมือง เข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่านบริหาร ทำให้ไม่สามารถชี้มูลความผิดนักการเมืองที่เป็นฝ่ายบริหารได้ และในที่สุดเกิดวิกฤติทางการเมือง ทำให้ประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น ยกปมเรื่ององค์กรอิสระถูกแทรกแซง มาเป็นเงื่อนไขสำคัญ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า กระบวนตรวจสอบที่มาของ สว. แม้จะมีข้อสงสัยและข้อร้องเรียนในประเด็นต่างๆ แต่ดีเอสไอซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงยุติธรรม ที่มี “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ (ปช.) แต่ใครตามการเมืองก็คงรู้ว่า “พ.ต.อ.ทวี” เป็นนักการเมืองที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ “นายทักษิณ” ถูกมองเป็นมือทำงานให้กับอดีตนายกฯ ช่วงรับราชการก็เติบโตได้เป็น “เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีพรรค พท.เป็นแกนนำรัฐบาล ดังนั้นในการผลักดันให้มีการตรวจสอบกระบวนการเลือก สว. จึงถูกมองว่าเป็นการบีบให้ สว. ส่วนใหญ่เปลี่ยนข้าง หลังส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็น “สายสีน้ำเงิน” หรือต้องการล้มการเลือกตั้ง สว. เพื่อให้ “สายสีแดง” เข้ามามีอิทธิพลในสภาสูง เหมือนการเมืองในอดีต ที่มีการวิจารณ์เป็นสภาผัวสภาเมีย เพราะทั้งสภาผู้แทนราษฎร และสว.เต็มไปด้วยสมาชิกที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน และทำให้ผู้มีอำนาจฝ่ายบริหารขณะนั้น กินรวบทางการเมือง ได้ทั้งอำนาจฝ่ายบริหาร ควบคุมฝ่ายตรวจสอบได้อีก ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบที่มาของ สว. จึงต้องโปร่งใสและตอบคำถามของสังคมได้

ขณะที่การประชุมของ กคพ. ครั้งที่ 2/2568 โดยมี “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะกำกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เป็นประธานกรรมการ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รองประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่ง 9 ราย (ขาดประชุม 1 ตำแหน่ง คือ ผบ.ตร.) รวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ อีก 7 ราย (ขาดประชุม 2 คน คือ พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ทำให้มีกรรมการเข้าร่วมประชุมเพียง 19 ราย จากทั้งหมด 22 ราย เพื่อพิจารณาวาระสำคัญที่จะมีการเสนอขอมติรับเป็นคดีพิเศษ ได้แก่ เรื่องสืบสวนที่ 151/2567 กรณีการคัดเลือก สว.ที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบ รธน. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 และประมวลกฎหมายอาญา

โดยเฉพาะให้มีมติเห็นชอบให้เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) หรือการเป็นคดีความผิดทางอาญาอื่น เนื่องด้วยพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) มาตรา 209 (อั้งยี่) ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 107 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 และความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

แต่ระหว่างการประชุม ปรากฏว่ากรรมการทั้งหมดได้มีการถกเถียงในเรื่องอำนาจการสอบสวนของดีเอสไอ เป็นเวลานาน ต่อมาคณะกรรมการได้เสนอเลื่อนการพิจารณา คดีฮั้วเลือก สว.โดยให้ดีเอสไอเชิญกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาชี้แจงในการประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 6 มี.ค.

น่าสังเกตว่า คณะกรรมการที่เป็นนายตำรวจทั้งในและนอกราชการต่างลาประชุม ทั้ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. รวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ คือ พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

อย่าลืมว่าก่อนหน้านั้น “พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์” รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง กล่าวถึงการเดินหน้าตอบโต้กรณีดีเอสไอจะรับคดีฮั้วเลือกตั้ง สว. ปี 67 เป็นคดีพิเศษนั้น ว่า จะให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการแจ้งความผู้ที่กล่าวหาทั้งภาครัฐ และเอกชน ฐานทำให้วุฒิสภาเสียหาย ถูกเข้าใจผิด และในส่วนของกรรมาธิการ (กมธ.) วุฒิสภา จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงถึงอำนาจหน้าที่และที่มาที่ไปของการมากล่าวหาวุฒิสภาร้ายแรง เรื่องอั้งยี่ ซ่องโจร อาชญากรรม และภัยต่อความมั่นคงและจะเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ที่น่าสนใจคือ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ในช่วงท้ายของการประชุม นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการ ครม.ได้แจ้งวาระพิจารณาลับ โดยขอให้เฉพาะรัฐมนตรีอยู่ในที่ประชุม และเชิญผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้อง เพื่อหารือถึงการส่งหนังสือสอบถามศาล รธน. กรณีคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าเรื่องใดทำได้หรือไม่ได้ รวมถึงขอให้ศาลฯ ระบุขอบเขตของความหมายของคำว่า “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” เพราะความหมายเดิมของคำดังกล่าวกว้างมากเกินไป จึงควรกำหนดความหมายให้แคบลงและชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดข้อสงสัยหรือปัญหาการส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย หรือมีการยื่นร้องต่อศาล รธน.ในภายหลัง จากกรณีที่จะมีการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ดังนั้น ที่ประชุม ครม.จึงมอบหมาย “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ให้ดำเนินการทำหนังสือสอบถามศาล รธน. ขณะที่นายชูศักดิ์ กล่าวในที่ประชุมว่า ยินดีที่จะทำหนังสือสอบถามศาล รธน. เพื่อให้เกิดความกระชับและความชัดเจนว่าคดีที่บุคคลนั้นๆ ถูกภาคทัณฑ์ หรือเคยต้องโทษจำคุกมาแล้ว แต่ปัจจุบันได้พ้นโทษเหล่านั้น ถือว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์แล้วหรือไม่ ทั้งนี้ไม่ได้มีรัฐมนตรีคนอื่นใดแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การสอบถามเรื่องดังกล่าวในขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่มีกระแสข่าวการเตรียมปรับ ครม.และความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล

ก่อนหน้านั้นเรื่องปัญหาการแต่งตั้ง “นายพิชิต ชื่นบาน” เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ เคยทำให้ “นายเศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะแต่งตั้งบุคคลที่มีปัญหาด้านจริยธรรม เพราะเคยถูกคุมขังในข้อหาละเมิดอำนาจศาลมาก่อน ดังนั้นการเสนอให้ส่งเรื่องศาล รธน.ตีความ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ อาจเป็นเพราะรัฐบาลเตรียมจะปรับ ครม. โดยแต่งตั้งบุคคลที่อาจมีความหมิ่นเหม่และอ่อนไหว และเพื่อป้องกันไม่ให้หัวหน้ารัฐบาล มีปัญหาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

“ทีมข่าวการเมือง”