ยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมากพืชหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้สำหรับการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่ผลผลิตใบยาสูบเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยที่สร้างเม็ดเงินไหลเข้าประเทศปีหนึ่งหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ที่ผลผลิตใบยาสูบทั่วโลกขาดแคลน ใบยาสูบจากประเทศไทยจึงได้รับโอกาสในการส่งออกมากขึ้น สร้างรายได้ให้กับชาวไร่ ชุมชนท้องถิ่น และอุตสาหกรรมการผลิตบุหรี่ของการยาสูบแห่งประเทศไทยได้มากขึ้น

แต่กว่าจะได้มาซึ่งใบยาแต่ละใบมีขั้นตอนและกระบวนการมากมาย จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “เกษตรประณีต” ที่ต้องใช้แรงงานคนเท่านั้นและต้นทุนสูง โดย “นนทกร พรมโมคัก ชาวไร่เวอร์จิเนียร์ จ.เชียงราย” บอกว่า หลังจากซื้อเมล็ดพันธุ์มาแล้วเกษตรกรจะนำไปเพาะในถาดเพาะ แล้วหยอดเมล็ด เมื่อเมล็ดงอกแล้วประมาณ 10 วัน ให้แยกกล้าไปใส่ในถาดเพาะที่วางไว้ในกระบะซีเมนต์ที่บรรจุน้ำไว้ เมื่อกล้ามีอายุประมาณ 1 เดือน จะถอนย้ายกล้าไปชำในแปลงใหม่อีกประมาณ 1 เดือน ก่อนนำไปปลูกในไร่ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน สำหรับดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกต้องเป็นดินร่วนปนทราย ดินร่วน และดินร่วนปนดินเหนียว ควรเลือกที่สูง มีการระบายน้ำดี ค่าความเป็นกรด-เบสของดินอยู่ระหว่าง 5.6-6.5 การเตรียมดินควรไถให้ลึกอย่างน้อย 6-8 นิ้ว เพื่อให้รากหยั่งลึกไปในดิน และเจริญเติบโตได้ดี ควรปลูกเป็นแถวเดี่ยวแบบยกร่อง

เมื่อต้นยาอายุได้ 60 วัน เกษตรกรจึงเริ่มเก็บใบยาใบแรก แล้วจึงเก็บไปเรื่อย ๆ จนหมดต้น เก็บทุก 5-7 วัน ครั้งละ 3-4 ใบ แต่ละต้นเก็บใบได้ 7-8 ครั้ง ซึ่งจะปลูกได้ 2,200-2,500 ต้น ต่อไร่ เมื่อปลายและขอบใบเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลือง โดยใบยาจะเริ่มสุกแก่จากส่วนโคนต้นไปยอด เส้นกลางใบมีสีขาว ผิวใบหยาบ ขรุขระ มีจุดตกกระบางๆ ริมใบบางส่วนมีรอยย่น ปลายใบตก เนื้อใบยืดหยุ่น ไม่หักง่าย มียางน้อย ก้านใบทำมุมกับลำต้นกว้างขึ้น เปราะและหักจากลำต้นได้ง่าย โดยลักษณะใบจะอ่อนโค้งลงพื้น เวลาที่เหมาะสมในการเก็บ คือ เวลาเช้าไม่เกิน 10 โมง เพราะเมื่อโดนแดดจัดๆ ใบยาจะสร้างสารเหนียวออกมา ทำให้เก็บยาก และนอกจากนี้ แสงแดดยังหลอกตาให้เห็นเป็นสีเหลืองได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ของชาวไร่ในการเก็บ เพื่อให้ได้ใบยาที่ดีและเหมาะสมในการนำไปเข้าโรงบ่มอบแห้งต่อไป โดยใบยาสูบเวอร์จิเนียที่ดีควรมีสีเหลืองอมส้ม

ในช่วงนี้ นอกจากชาวไร่จะต้องระวังกับโรคหรือแมลงที่จะมาทำลายต้นยาแล้ว ยังมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม หรือพายุลูกเห็บที่จะทำให้ต้นยาเสียหายได้ เช่นกรณีปี 2564 ที่พายุลูกเห็บถล่ม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นบริเวณกว้างจนทำให้ไร่ยาสูบเสียหายกว่า 100 ไร่
เมื่อเก็บใบยาได้แล้ว จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการการบ่ม โดยจะเสียบด้วยไม้แบนยาว ประมาณ 45 ซม. เสียบก้านใบยาให้หลังใบชนกัน แต่ละคู่ห่างกัน 2-3 เซนติเมตร การบ่มใบยาสูบเวอร์จิเนียใช้วิธีบ่มด้วยไอร้อน โดยการสร้างโรงบ่มที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ ปัจจุบันเกษตรกรจะใช้ โรงบ่มแบบประหยัดพลังงาน โดยมีฉนวนกันความร้อนรอบผนังทั้งสี่ด้านและพัดลมดันไอร้อนภายในโรงบ่ม โรงบ่มแบบใหม่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในโรงบ่มได้ดี จึงสามารถบรรจุใบยาได้มากกว่าโรงบ่มแบบเก่า มากถึง 8,000 กิโลกรัมต่อครั้ง เมื่อบ่มเสร็จแล้วจะได้ใบยาแห้ง 800 กิโลกรัม นอกจากบ่มใบยาสูบแล้วโรงบ่มแบบใหม่สามารถนำไปอบหรือบ่มพืชผลทางการเกษตรอื่นๆได้อีก เช่น พริก ข้าวโพด ข้าว และลำไย เป็นต้น ถือว่าคุ้มค่าไม่น้อยเลย กับการสร้างโรงบ่มแบบประหยัดพลังงานนี้

สำหรับใบยาที่บ่มเรียบร้อยได้ที่แล้ว ก็จะมีการนำมาคัดเป็นใบๆ เพื่อกำหนดชั้นมาตรฐานให้ถูกต้องสำหรับการขาย แล้วรวมมัดใบยาชั้นเดียวกันเข้าด้วยกันเป็นกำๆ และมัดหัวกำด้วยใบยาอีกทีหนึ่ง นำใบยาชั้นเดียวกันมาอัดรวมเป็นห่อ โดยใช้เครื่องอัดใบยาซึ่งทำขึ้นโดยเฉพาะ ใบยาแต่ละห่อหนักประมาณ 60-70 กิโลกรัม แล้วห่อหุ้มด้วยกระสอบป่านพร้อมขายต่อให้กับโรงงานยาสูบต่อไป
“การปลูกใบยาจนถึงกระบวนการบ่ม และส่งขาย เกษตรกรจะใช้แรงงานคนทั้งหมด ไม่มีเครื่องจักรเข้ามาช่วย โดยทุกขั้นตอนจะทำด้วยความประณีต และถึงแม้จะเหนื่อย ต้องแบกรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ก็จะยังทำไร่ยาสูบต่อไป เพราะเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาในครอบครัวหลายสิบปีแล้ว”