“หูตึง” คือ ภาวะที่การได้ยินแย่ลงจนถึงระดับที่ทำให้การสื่อสารในชีวิตประจำวันประสบความยากลำบาก “คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล” บอกเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับลักษณะอาการและวิธีรักษา พร้อมกับการป้องกัน โดย “หูตึง” มีอาการเริ่มต้น คือไม่ค่อยได้ยินเสียง บางคนอาจได้ยินเสียงผิดปกติในหู เหมือนมีเสียงกวนอยู่ในหูตลอดเวลา มีเสียงก้องในหู หรือการได้ยินแย่ลง เป็นสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินผิดปกติหรือหูตึงได้ และจะส่งผลต่อการสื่อสารในอนาคต เช่น พูดแล้วได้ยินแต่ไม่เข้าใจ
ภาวะหูตึง มีวิธีการรักษาอย่างไร
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุ ถ้าเป็นสาเหตุจากขี้หูอุดตันหรือการอักเสบที่หูชั้นนอก ควรพบแพทย์เพื่อดูแลเรื่องความสะอาดช่องหูหรือให้ยาเพิ่มเติม
หากเป็นที่ท่อปรับความดันของหูชั้นกลางทำงานผิดปกติ แพทย์จะพิจารณาว่าต้องใช้ยาพ่นหรือกินยา
และสุดท้ายหากเป็นความผิดปกติที่หูชั้นใน ส่วนมากต้องใช้เครื่องช่วยฟังเป็นหลัก เพราะหูชั้นในแก้ไขค่อนข้างลำบาก

การป้องกันภาวะหูตึง
กรณีของหูตึงจากความเสื่อมของหูชั้นใน ร่างกายของคนเราจะเกิดความเสื่อมไปตามธรรมชาติ รวมถึงมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมด้วยส่วนหนึ่ง ในส่วนนี้จึงไม่มีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นได้
แต่ในกรณีที่เกิดความผิดปกติของหูชั้นในจากสาเหตุอื่นๆที่ไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ อาทิ หูตึงจากการอยู่ในที่เสียงดังเป็นระยะเวลานาน อาจป้องกันได้ด้วยการใส่ที่อุดหู

หากเป็นกรณีของหูตึงจากการอักเสบของหูชั้นใน ควรหลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ ซึ่งอาจส่งผลต่อการติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองที่ลุกลามไปถึงหูชั้นในได้ นอกจากนี้ ถ้าเกิดภาวะหูตึงหรือได้ยินลดลงจากสาเหตุอื่น เช่น ความผิดปกติของหูชั้นนอก ป้องกันได้โดยไม่ปั่นหู ไม่แคะหู เพื่อไม่ให้อักเสบเพิ่มขึ้น.