ถูกจับตามองที่สุดในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเป็นประธาน ซึ่งมีวาระร้อน ขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 67 เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) สำหรับบอร์ดกคพ. มีทั้งหมด 19 คน รวมทั้งตัวประธาน โดยกรรมการจะแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือกรรมการโดยตำแหน่ง ที่จะเป็นพวกข้าราชการประจำระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, อัยการสูงสุด, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และนายกสภาทนายความฯ เป็นต้น
และอีกส่วนหนึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ตั้งโดยมติ ครม. อีก 9 คน โดยมีการตั้งเมื่อ 21 พ.ย. 2567 ยุครัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประกอบด้วย นายเพ็ชร ชินบุตร (ด้านเศรษฐศาสตร์), นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม (ด้านการเงินการธนาคาร), นางดวงตา ตันโช (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ), นายชาติพงษ์ จีระพันธุ (ด้านกฎหมาย), นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความที่ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน (ด้านกฎหมาย), นางทัชมัย ฤกษะสุต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ด้านกฎหมาย), พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง อดีตรอง ผบ.ตร. (ด้านการสอบสวนคดีอาญา), พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผช.ผบ.ตร. (ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน), พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก อดีตรอง ผบ.ตร. (ด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล)
โดยเหตุผลที่ “พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เสนอให้เป็นคดีพิเศษ ตอนหนึ่งระบุว่า เนื่องจากการกระทำผิดของกลุ่มขบวนการในครั้งนี้ เป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ (รธน.) เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติมีความสลับซับซ้อน กระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ ผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ โดยมีการวางแผนมาตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการเลือก สว. ต่อเนื่องมาจนถึงหลังการเลือก สว.เสร็จสิ้นแล้ว ลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งหน้าที่กันทำ มีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศในการเตรียมโปรแกรมคำนวณการลงคะแนน ออกเป็นโพยฮั้วเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จำนวนสว.ที่ต้องการ เตรียมบุคคลที่มาลงคะแนนที่เรียกว่ากลุ่ม “พลีชีพ” หรือ “โหวตเตอร์”
สำหรับการประชุมคณะกรรมการ กคพ. ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 หรือจำนวน 15 คนจากทั้งหมด 22 คนเป็นต้นไป ให้ความเห็นชอบจึงจะรับเป็นคดีพิเศษได้ ถ้าติดตามสัญญาณจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ที่ระบุว่ามีข้อมูล และมีความชัดเจนหลายอย่าง

ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะประธาน กคพ. ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณารับคดีฮั้วเลือก สว.เป็นคดีพิเศษว่า ได้รับแจ้งว่า มีข้อมูล และมีความชัดเจนหลายอย่าง เราไม่ได้เอาเรื่องการเมืองมากลั่นแกล้งกัน ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย เป็นไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นเรื่องมา เรื่องแบบนี้ต้องเป็นคดีพิเศษ ซึ่งในทัศนะของดีเอสไอ ดูแล้วก็มีเหตุมีผล เมื่อเขาเสนอมา เราก็ต้องบรรจุที่ประชุม เมื่อถามอีกว่าหากรับคดีไปแล้วจะกลายเป็นชนวนเหตุหรือไม่ เพราะ สว.ก็ตั้งแง่ว่าเป็นเรื่องการเมือง นายภูมิธรรม กล่าวว่า อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องการเมือง เมื่อมีคนมาเสนอว่ามีปัญหาในทางกฎหมาย เราไม่เรียกประชุมก็คงไม่ได้ และไม่ได้จบแค่นี้ ต้องสืบสวนสอบสวนพยาน และการเป็นคดีพิเศษต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของ กคพ. เมื่อถามอีกว่าส่วนจะต้องมีการเคลียร์ใจกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า พูดหลายครั้งแล้วว่าไม่มีหน้าที่เคลียร์ใจ แต่มีหน้าที่ทำให้เป็นไปตามกระบวนการ ในเมื่อเราเรียกร้องว่า กระบวนการยุติธรรมบ้านเรามีปัญหา พอมีคนคิดขึ้นมา 1-2 คน เราต้องทำอย่างเต็มที่ ต้องให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการได้กับทุกภาคส่วน

ส่วน “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมบอร์ด กคพ. วันที่ 25 ก.พ. จะมีการนำพยานหลักฐานต่างๆ เสนอต่อคณะกรรมการฯ ซึ่งถ้าจังหวัดนั้นมี สส. แต่ไม่มี สว. สักคน หรือบางจังหวัดมี สว. 14 คน มี สว. 9 คน 7 คน ก็ไม่ได้เป็นไปตามหลัก ควรจะมีการตรวจสอบ ส่วนที่มีคำพูดว่า “อั้งยี่ ซ่องโจร” เป็นข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ซึ่งกรรมการก็จะใช้ดุลพินิจ โดยไม่มีอคติ และให้ความเป็นธรรม แต่เราก็ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองพยานในคดี คงต้องฝากกรมคุ้มครองสิทธิฯ ในการคุ้มครองพยาน เพราะพยานหลายคน เมื่อมาให้การก็กลัวจะเสียชีวิต ส่วนเรื่องความกังวลเรื่องถูก สว. ร่วมกันรวมรายชื่อยื่นเรื่องถอดถอนออกจากรัฐมนตรีนั้น คือเราต้องทำตามกฎหมาย และไม่กลั่นแกล้งใคร ไม่มีอะไรที่เราจะต้องกังวล
มีรายงานว่า คดีโพยฮั้ว สว. จะถูกบรรจุรับเป็นคดีพิเศษโดยการพิจารณาของ กคพ. อย่างแน่นอน ส่วนหากดีเอสไอต้องมีการสรุปสำนวนการสอบสวน ด้วยความที่เป็นการสอบสวน ถึงเหตุการณ์ก่อนที่ได้รับการเลือกเป็น สว. นั้น จะต้องสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษ ส่วนความผิดอื่นใดที่บุคคลอาจกระทำในขณะดำรงตำแหน่ง สว. นั้น ดีเอสไอไม่ได้ดู ดีเอสไอดูเพียงความผิดอาญาอื่น คือ เรื่องอั้งยี่

ส่วนความเคลื่อนไหวของ สว.นั้น คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) นำโดย นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา และ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ประชุมหารือกรณีการฮั้วเลือก สว. ที่อาคารรัฐสภา โดยมี สว.ผู้ดำรงตำแหน่งประธาน กมธ. สามัญประจำวุฒิสภา จำนวน 21 คณะ ร่วมประชุมด้วย ซึ่งการประชุมเป็นการหารือภายในแบบลับ ซึ่งใช้เวลา 1 ชั่วโมง นายมงคล แถลงภายหลังการประชุมว่า สืบเนื่องจากเรื่องที่ดีเอสไอ เตรียมเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะ กคพ. เพื่อมีมติให้คดีเกี่ยวกับการตรวจสอบการเลือก สว. ปี 67 เป็นคดีพิเศษนั้น รธน. ทุกฉบับได้บัญญัติให้การจัดเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว. โดย (กกต.) มีเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมาย ไม่ให้ถูกแทรกแซงของฝ่ายบริหาร หรือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือรัฐมนตรีคนใด รวมถึง รมว.ยุติธรรม ดีเอสไอ และ กคพ. การดำเนินคดีและคดีอาญาเกี่ยวกับการเลือก สว. เป็นอำนาจของ กกต.โดยเฉพาะ
นายมงคล กล่าวต่อว่า ประการที่ 2 การที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ เตรียมเสนอให้กคพ. มีมติให้คดีเกี่ยวกับการตรวจสอบการเลือก สว. เป็นคดีพิเศษ โดยที่ กกต.ยังไม่ได้มอบหมาย จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ อีกทั้งการตั้งข้อหาอั้งยี่ และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 116 กับ สว. ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วย รธน.และกฎหมาย ไม่เป็นความจริง เป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารเป็นเครื่องมือ โดยส่อเจตนาที่จะทำลายองค์กรวุฒิสภา ด้วยการเผยแพร่ข่าวและเอกสารลับต่างๆ เพื่อล้มล้างฝ่ายนิติบัญญัติ เราไม่กลัวการตรวจสอบ พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ กับองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ คือ กกต.มาโดยตลอด จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีที่ดีเอสไอระบุ การดำเนินคดีในส่วนของอาญา ไม่เกี่ยวข้องกับ กกต. นายบุญส่ง รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 อดีต กกต. กล่าวว่า การสืบสวนในเบื้องต้น เป็นหน้าที่ของ กกต. เรื่องการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งในกฎหมายนี้ จะมีกฎหมายอาญาตามมาทีหลัง เมื่อถามถึงกรณี ดีเอสไอระบุ โพยฮั้วเลือกตั้ง สว. ตรงกันถึง 138 คน จาก 140 คน มีมูลพอที่จะตรวจสอบหรือไม่ คณะ สว.นิ่งอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่ประธานวุฒิสภา จะหันไปทางนายบุญส่ง พยักหน้าให้ตอบคำถาม ซึ่งนายบุญส่ง กล่าวสั้นๆ ว่า “เป็นหน้าที่ของ กกต. ตามกฎหมาย รธน.” เมื่อถามถึงกรณีที่จะมีการยื่นถอดถอน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม มีความคืบหน้าอย่างไร พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า มีการเตรียมการในการอภิปรายทั่วไป เพื่อให้มีโอกาสมาตอบคำถาม หรือการตั้งกระทู้ ซึ่งน่าจะทันสมัยประชุมนี้ เมื่อถามถึงการระบุ ใช้ข้อหาอั้งยี่ ที่อาจมีกระบวนการฉ้อฉลนั้น ถือว่าใช้คำแรงไปหรือไม่ ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา หัวเราะ จากนั้น นายบุญส่ง กล่าวว่า ความรู้สึกของวิญญูชนเป็นเช่นไร ก็คงดำเนินการตามกฎหมาย
ต้องบอกว่า ปัญหาความขัดแย้งในครั้งนี้ ไม่น่าจะจบลงง่ายๆ ทาง สว.คงเดินหน้าปกป้องสถานะของตนเองอย่างเต็มที่ ขณะที่ทาง “กคพ.” ก็ต้องหาหลักฐานมายืนยันกระบวนการได้มา สว.67 บางส่วน เป็นไปโดยมิชอบ ซึ่งต้องพิสูจน์ว่า หลักฐานมีน้ำหนักมากแค่ไหน เพราะในทางการเมืองหลายคนเชื่อว่า เป็นความพยายามล้ม สว.สีน้ำเงิน เพราะมีคุมเสียงข้างมากในสภาสูง ซึ่งมีทั้งอำนาจในการให้ความเห็นชอบแก้ไข รธน. และเลือกบุคคลเข้าไปทำงานในองค์กรอิสระ ซึ่งในทางการเมืองมีความหมาย และอาจทำให้เกิดรอยร้าวระหว่าง “เพื่อไทย (พท.)” กับ “ภูมิใจไทย (ภท.)”

ส่วนอีกประเด็นที่อยู่ในความสนใจคือ การพบปะของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจะจัดขึ้นที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล เขตบางรัก กรุงเทพฯ โดยพรรค ภท.เป็นเจ้าภาพ ก่อนหน้านั้น “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. กล่าวว่า ทั้งนี้ จะเชิญไปพรรคละสองคน คือ หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นไปตามคำบัญชาของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เพราะที่ผ่านมาคนเยอะแต่มีเวลาจำกัด ทำให้พูดคุยกันได้น้อย
เชื่อว่าการนัดพบปะครั้งนี้ คงถูกจับตาเพราะเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่าง “พท.” กับ “ภท.” ไล่ตั้งแต่เรื่องการแก้ไข รธน. การตรวจสอบปัญหาการถือครองที่ดินของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล พท. หรือล่าสุดกระบวนการตรวจสอบการได้มาซึ่ง สว. ส่วนใหญ่เป็น ”สายสีน้ำเงิน” ที่มีความใกล้ชิดกับ “พรรค ภท.” และท่ามกลางข่าวความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล แกนนำพรรคฝ่ายค้านนำโดย “พรรค ปชน.” เตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะส่งผลถึงการลงคะแนนไว้วางใจหรือไม่ เอกภาพในพรรคร่วมรัฐบาลจะยังเข้มแข็งอยู่หรือไม่.
“ทีมข่าวการเมือง”