สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ว่าตามข้อมูลการทำเหมืองโลกประจำปี 2567 ยูเครนอยู่อันดับที่ 40 ในกลุ่มประเทศที่ผลิตแร่ธาตุ ทุกประเภทรวมกัน รวมถึงถ่านหิน และเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก เมื่อปี 2565
ขณะที่สำนักงานวิจัยธรณีวิทยาและการทำเหมืองของฝรั่งเศส (บีอาร์จีเอ็ม) ค้นพบทรัพยากรในยูเครนมากกว่า 100 รายการ รวมถึงเหล็ก แมงกานีส และยูเรเนียม จากการศึกษาวิจัย ที่เผยแพร่เมื่อปี 2566
อย่างไรก็ตาม ยูเครนไม่ได้เป็นที่รู้จักในเรื่องแหล่งสำรองธาตุหายาก ซึ่งจำเป็นสำหรับหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดรน กังหันลม และมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ เรียกร้องข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งแร่ธาตุ “เพื่อชดใช้” กับความช่วยเหลือที่รัฐบาลวอชิงตันเคยให้ไป และเพื่อแลกกับความช่วยเหลือในอนาคต
รายงานระบุว่า ยูเครนมีแหล่งแร่ธาตุหายากจำนวนมาก แต่การสำรวจและพัฒนาเพิ่มเติมนั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนจำนวนมาก
ขณะที่รัฐบาลยูเครนกล่าวว่า แร่ธาตุหายากที่มีอยู่ในแหล่งแร่ 6 แห่ง รวมถึงแหล่งแร่โปลตาวา ต้องการการลงทุน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10,051 ล้านบาท)
ในทางเทคนิค แร่ธาตุหายากบางชนิดที่รัฐบาลยูเครนอ้างถึง อาทิ แทนทาลัม ไนโอเบียม เบริลเลียม สตรอนเซียม แมกนีไทต์ ไม่อยู่ในรายชื่อแร่ธาตุหายาก 17 ชนิด และการคาดการณ์ของรัฐบาลบางส่วนนั้น อ้างอิงตามการประเมินแหล่งแร่ธาตุหายาก ซึ่งเข้าถึงได้ยากในยุคสหภาพโซเวียต.
เครดิตภาพ : AFP