เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 68 ที่บริเวณตลิ่งแม่น้ำชี จุดก่อสร้างโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่ง บริเวณ ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ดร.ฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (ปธ.กมธ.ป.ป.ช.) นายวิรัช พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ เขต 1, นายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์ เขต 5 พรรคเพื่อไทย นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่รับฟังปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่ง ซึ่งบริเวณนี้เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ ของ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำและเขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ที่ทยอยอนุมัติมาตั้งแต่ปี 2561-ปี 2564 จำนวน 8 โครงการ งบประมาณกว่า 545 ล้านบาท แต่ทุกโครงการผู้รับจ้างที่กรมโยธาฯ จัดหามาทำการก่อสร้างนั้น ผู้รับจ้างไม่สามารถก่อสร้างเสร็จแม้แต่โครงการเดียว จนเกิดการร้องเรียนยาวนานกว่า 3 ปี เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส เศรษฐกิจในชุมชนเมืองได้รับความเสียหายประเมินค่ามากกว่า 600 ล้านบาท อีกทั้งการทิ้งงานทำให้ประชาชนเรียกร้องให้องค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น สตง.-ป.ป.ช.-ป.ป.ท. หรือแม้แต่หน่วยงานภายในจังหวัด อาทิ ตรวจสอบภายในจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เข้าตรวจสอบติดตามปัญหานี้

การตรวจสอบประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้พาไปดูจุดก่อสร้างหลายแห่ง โดยพบว่าบริเวณจุดก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง 7 แห่ง ยังคงถูกปล่อยทิ้งร้าง เหลือแต่เสาเข็ม กองเศษหิน ในส่วนเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ที่เป็นจุดก่อสร้างท่อระบายน้ำ ถนนที่ถูกเปิดทิ้งเอาไว้เพื่อทำท่อระบายน้ำยังคงกลายเป็นกับดักชีวิตที่ก่อให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุ และปัญหาโรคระบาดจากท่อระบายน้ำที่ขังมีกลิ่นเหม็นเน่า สภาพพื้นที่ที่สื่อมวลชนได้เห็นพบว่าในจุดก่อสร้างบ้านเรือน ร้านค้าถูกปล่อยทิ้งร้างเนื่องจากปัญหางานก่อสร้างที่ขาดความรับผิดชอบทิ้งงานยาวนาน ทั้งนี้ก่อนหน้าในช่วงเดือน ธ.ค. 67 ดร.ฉลาด ขามช่วง ปธ.กมธ.ป.ป.ช. พร้อมคณะได้เข้ามาติดตามปัญหาและเคยเสนอให้ นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เร่งรัดหามาตรการเยียวยาให้กับพี่น้องประชาชนแต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนแต่อย่างใด ขณะที่บริเวณเขื่อนป้องกันตลิ่งเขตตำบลลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ และที่ตำบลเจ้าท่า อ.กมลาไสย ยังพบว่ามีความพยายามใช้อำนาจรัฐเข้าไปข่มขู่ประชาชนไม่เว้นแม้แต่พระ

ดร.ฉลาด ขามช่วง ปธ.กมธ.ป.ป.ช. กล่าวว่า การติดตามตรวจสอบครั้งนี้เป็นการรับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชนชาวกาฬสินธุ์ โดยตรงก่อนที่ กมธ.ป.ป.ช. จะดำเนินการสรุปปัญหาที่พบเห็นเพื่อนำส่งเป็นรายงานให้กับ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และการเข้ามารับฟังครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 เพราะก่อนหน้านี้ได้ส่งให้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่า สตง. ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิประจำ กมธ.ป.ป.ช. มาตรวจสอบแล้ว ชัดแจ้งว่า 8 โครงการนี้ ไม่ใช่โครงการที่ประมูลรวมกัน แต่เป็นโครงการที่ทยอยประมูลเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จึงเป็นงานของส่วนกลางที่กระจายมายังส่วนภูมิภาค ปัญหานี้ทั้ง 8 โครงการ งบประมาณกว่า 545 ล้านบาท ผู้รับจ้าง หจก.แรก รับจ้าง 6 โครงการ, หจก.สอง รับจ้าง 2 โครงการ การก่อสร้างไม่เสร็จแม้แต่โครงการเดียว สาเหตุทิ้งงาน จนถูกกรมโยธาฯ ประกาศเป็นผู้รับเหมาทิ้งงานเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 67 และถูกกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ประกาศเวียนห้างเป็นผู้รับเหมาทิ้งงานในช่วงปลายเดือน ม.ค. 68 จากผลของการติดตามของ กมธ.ป.ป.ช.

“แต่ปัญหานี้ไม่จบเพียงแค่นั้น กมธ.ป.ป.ช. ยังคงดำเนินการตรวจสอบต่อเนื่อง เบื้องต้นพบประเด็นปัญหาสำคัญหลักจากเหตุแห่งการทุจริตที่มีการตั้งคำถามในวง กมธ.ป.ป.ช. ว่า ทำไม 2 หจก.นี้ ถึงได้งานจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ทั้งหมด หจก.อื่นๆ ที่มีความสามารถในประเทศไทยไม่มีแล้วหรือ และก็รู้อีกว่า 2 หจก.นี้ เจ้าของ หจก.มีนามสกุลไปตรงกับนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และการจ้างงานระหว่างกรมโยธาฯ และผู้รับจ้างพบว่า มีการลดราคางานเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดเนื้องานก่อสร้างยังพบว่าทุกโครงการมีการจ่ายเงินแอดวานซ์ 15% และเกือบทุกโครงการมีการจ่ายค่างวดงาน ทำให้วงเงินรวมจากการเบิกจ่ายภาพรวมสูงถึง 250 ล้านบาท จากจำนวนเงินรวม 545 ล้านบาท ต่อมาจึงเป็นประเด็นสำคัญถึงแนวทางการบริหารสัญญาของผู้บริหารสัญญาจากส่วนกลาง รวมถึงนายช่างผู้ควบคุมงาน ถึงแม้ว่าจะอ้างว่ามีเหตุจากปัญหาโควิด หรือปัญหาการขาดสภาพคล่องก็ต้องมีบันทึกของช่างผู้ควบคุมงาน ที่หากผู้บริหารสัญญาทำงานตรงไปตรงมาปัญหานี้ก็คงไม่สร้างความเสียหายมากมายขนาดนี้ และอีกหนึ่งความผิดปกติก็คือผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ออกมาปฏิเสธตลอดว่าไม่รู้เรื่องการก่อสร้างไม่เกี่ยวกับทางจังหวัด เป็นงบของส่วนกลาง กรณีนี้ยิ่งไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประชาชนเค้าเรียกกันว่าพ่อเมืองกาฬสินธุ์นั้น จะต้องรู้ทุกเรื่องแม้แต่เข็มตกในพื้นที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ก็จะต้องออกมาช่วยเหลือป้องกัน เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชน ไม่ใช่มาปล่อยให้ประชาชนเดือดเนื้อร้อนใจอย่างทุกวันนี้” ดร.ฉลาด กล่าว

ดร.ฉลาด กล่าวต่อไปว่า ตนยืนยันว่าการตรวจสอบนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นการตรวจสอบเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตที่ได้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนและงบประมาณของแผ่นดินของชาติ การติดตามในขั้นตอนของ กมธ.ป.ป.ช. ขณะนี้ กมธ.ป.ป.ช. ได้พักเรื่องนี้ไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อรอรับเอกสารสำคัญจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ยังไม่ส่งมายัง กมธ.ป.ป.ช. และเมื่อ กรมโยธาฯได้ส่งเอกสารมาให้ทั้งหมด ก็จะส่งให้ กมธ.ป.ป.ช. และที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ที่ตนได้มอบหมายให้ดูปัญหานี้โดยเฉพาะประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ปธ.อนุกมธ.ป.ป.ช. นายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็น ปธ.ที่ปรึกษา กมธ.ป.ป.ช. และ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ตรวจเงินแผ่นดิน เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิประจำ กมธ.ป.ป.ช. นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ และ นายธีรัจชัย พันธุมาศ รอง ปธ.กมธ.ป.ป.ช. พร้อมด้วยที่ปรึกษาฯ เข้าพิจารณาเพื่อสรุปเนื้อหาตามข้อเท็จจริงทั้งหมด เพื่อส่งต่อไปยัง ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ และยืนยันว่ากรณีนี้จะต้องมีคนรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนคนกาฬสินธุ์ และจะต้องเรียกเงินคืนแผ่นดินที่เป็นค่าความเสียหายทั้งหมดด้วย นอกจากนี้ในกรณีดังกล่าวในวันที่ 27 ก.พ. 68 ที่อาคารรัฐสภา กมธ.ป.ป.ช. จะจัดสัมมนาการป้องกันปัญหาการทุจริตในภาครัฐ โดยได้เชิญ ปลัดกระทรวง อธิบดี ในทุกกระทรวง ทบวง กรม เข้ามาถกเพื่อหาทางออกในการป้องกันการทุจริตที่จะมีการนำปัญหาโครงการก่อสร้าง 7 ชั่วโคตรของชาวกาฬสินธุ์ เป็นหัวข้อสำคัญในการถกเพื่อสร้างบรรทัดฐานในการป้องกันและการเอาผิดกับผู้กระทำการทุจริตด้วย.