วันที่ 24 ก.พ. นายลักษ์ บุญชละ นายกเทศมนตรีตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายภาวิต บุญชละ รองนายกเทศมนตรีตำบลสันผีเสื้อ ได้ร่วมกันจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น (โครงการ อพ.สธ. – ทต.สันผีเสื้อ) กับ ดร.บุญรักษ์ ธนเจริญโรจน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช้างทองแลนด์สเคป จำกัด และช้างทองเฮอร์ริเทจ ปาร์ค เพื่อสนองพระราชดำริ ในงานสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากรท้องถิ่น งานปลูกรักษาทรัพยากรท้องถิ่น และงานอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรท้องถิ่น

นายภาวิต กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากทางเทศบาลฯ มีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและทรัพยากรท้องถิ่นเป็นพันธุ์หายากในพื้นที่ตำบลสันผีเสื้อ และช้างทองเฮอร์ริเทจ ปาร์ค เป็นการต่อยอดในการอนุรักษ์ของทางเทศบาลฯ และสนองงานพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) สถานที่แห่งนี้บรรยากาศร่มรื่น เต็มไปด้วยไม้ใหญ่นานาพันธุ์ที่หายากที่สุด นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแล้ว ยังเป็นปอดแห่งใหญ่แห่งใหม่ของตำบลสันผีเสื้อและเป็ฯแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์วิทยา สำหรับความร่วมมือทางวิชาการ ประเภทชนิดพันธุ์ต้นไม้หายากต่างๆ ทางเทศบาลฯ ได้ส่งเสริมให้กับเด็ก เยาวชน นักเรียน นักวิชาการต่างๆ มาศึกษาหาความรู้ มาหาข้อมูล เพื่อขยายพันธุ์ ขยายฐานความคิดต่อยอดงานด้านวิชาการในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชต่างๆ เกิดความร่วมมือและ MOU กันในวันนี้ ขอเชิญนักท่องเที่ยว เยาวชน และนักวิชาการ มาร่วมชมพันธุ์ไม้หายากในสถานที่แห่งนี้ เช่น ต้นมะพร้าวที่ถือว่าหายากจริงๆ ที่มีความผิดแปลกไปจากรูปแบบต้นมะพร้าวปกติ มีลักษณะต่างๆ อย่างรูปเกลียว และมะแพร้าว ที่หลายๆ คนอาจจะไม่เคยได้ยิน และแต่ละส่วนของต้นไม้พันธุ์หายากที่เราได้สำรวจและเก็บรวบรวมไว้ จะอยู่ในแต่ละหมู่บ้าน ทำบัญชีสำรวจไว้ รวมไปถึงฟาร์มผีเสื้อที่เพาะพันธุ์ไว้ เป็นผีเสื้อพันธุ์หายากที่จะนำกลับเข้าไปสู่ระบบนิเวศน์ และยังมีต้นไม้ชื่อผีเสื้อ ซึ่งเป็นที่มาของตำบลสันผีเสื้อด้วย เป็นพันธุ์หายากและเราเก็บอนุรักษ์ไว้ที่นี่ ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ หลายๆ หน่วยงาน สามารถมาศึกษาดูงาน เป็นแหล่งความรู้ให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว เยาวชน และคนในชุมชนได้ ที่สำคัญยังเป็นการพัฒนาการแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

ด้าน ดร.บุญรักษ์ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีต้นไม้สำคัญ เช่น ต้นลิ้นจี่ 100 ปี ต้นพยอมที่เป็นไม้พื้นถิ่นของทางเหนือ ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ประชาชนสามารถมาดูได้ เพราะแต่ละต้นมีอายุนับ 100 ปี และเราก็มีการสะสมต้นไม้ อย่างต้นผีเสื้อ ไม้หายากในท้องถิ่น ก็พยายามเพาะขยายพันธุ์และเพิ่มฐานข้อมูลในแหล่งวิชาการให้เด็กๆ รุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ต้นไม้ที่เก็บรวบรวมไว้มีทั้งหมด 400 กว่าสายพันธุ์ มีต้นไม้พื้นถิ่นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่รวบรวมจากในภาคเหนือมาเก็บไว้ที่นี่ นำมาทำเป็นแหล่งวิชาการให้ความรู้ และใช้สำหรับเป็นสถานที่พักผ่อน เป็นที่เรียนรู้ และต่อยอดให้เป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์ไม้ทั้งหมดของประเทศไทย ที่เราสามารถรวบรวมได้ และได้รับการสนับสนุนจากทางเทศบาลตำบลสันผีเสื้อ ที่ได้เข้ามาให้คำแนะนำ ให้ความรู้ ในสิ่งที่เรายังไม่พร้อมในหลายๆ เรื่อง เป็นความร่วมมือที่จะเกิดประโยชน์ต่อชาวเชียงใหม่ เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาสถานที่แห่งนี้ และมีหลายชนิดที่เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย และหนึ่งเดียวในโลก ได้ใช้เวลาในการเก็บรวบรวมมา 20 กว่าปี เกือบ 3 ทศวรรษ ซึ่งเราได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรท้องถิ่นเพิ่มเติม ต่อยอดจากสิ่งที่เรามี เพื่อให้ประโยชน์กับคนในพื้นที่เยอะที่สุด และขยายเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบของท้องถิ่นและประเทศไทยในอนาคต ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร สามารถมาดูเป็นตัวอย่าง มาศึกษาเพิ่มเติมและให้ทุกที่ไปขยายเพิ่ม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม