กำลังเป็นไวรัลที่บนโลกออนไลน์แห่แชร์กันสนั่น หลังจากคุณแม่รายหนึ่งได้ออกมาโพสต์คลิปนาทีระทึกที่ลูกน้อยของตัวเอง เกิดอาการร้องกลั้นจนตัวแข็ง แม้จะพยายามช่วยกันหลายวิธีจนดีขึ้น แต่ก็ยังไม่หมดห่วงเนื่องจากลูกตนเองเป็นบ่อย

โดยเธอโพสต์วิดีโอลงในช่องติ๊กต็อกส่วนตัวระบุแคปชั่นระบุว่า “น้องเป็น 3-4 ครั้งแล้ว บางครั้งตัวเขียวด้วยค่ะ” พร้อมกับเขียนข้อความเพิ่มเติมในคลิปว่า “น้องร้องกลั้นแล้วเป็นแบบนี้ ทำยังไงดีคะ ลูกบ้านไหนเป็นบ้าง”

ซึ่งภายในคลิปจะเห็นได้ว่า ทางครอบครัวพยายามช่วยเหลือเด็กน้อยที่มีอายุราวประมาณ 2-3 ขวบ กำลังอยู่ในท่าทางร้องกลั้น ตัวแข็ง ตาค้าง แม้ทางผู้ปกครองจะพยายามผายปอดและใช้น้ำเย็นราดตัวเพื่อเรียกสติ ซึ่งใช้เวลาอยู่พักใหญ่ก่อนเด็กจะเริ่มขยับตัว ซึ่งวิดีโอนี้มียอดเข้าชมกว่า 21.1 ล้านครั้ง และมีผู้ปกครองต่างเข้าไปคอมเมนต์แลกเปลี่ยนประสบกาณ์ของลูก ๆ ล้นหลามอีกด้วย
สำหรับการ “ร้องกลั้น” เป็นภาวะที่เด็กมีอาการกลั้นหายใจ ขณะหายใจออกเป็นชั่วขณะหนึ่ง ทำให้ออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงในสมองไม่เพียงพอ จนทำให้หน้าเขียวและเกือบเสียชีวิตได้ ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า “breath-holding spells” อาการนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กแรกเกิดถึงเด็กโต เมื่อเด็กเริ่มรู้จักแสดงอารมณ์ได้แล้ว โดยเฉพาะเวลาถูกขัดใจ พบได้ตั้งแต่ช่วงเด็กเล็ก 6 เดือน-6 ขวบ อายุที่พบมากประมาณ 2 ขวบ หรือเมื่อเด็กเริ่มรู้จักแสดงอารมณ์ได้
คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติดังนี้ อย่าปล่อยให้ลูกโกรธจนสุด ควรพยายามหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปหาสิ่งอื่น หากลูกร้องกลั้นให้กอดลูกไว้ ไม่ว่าหรือควรเขย่าตัวลูกหรือตบหน้าเพื่อให้ลูกหยุดร้อง สำรวจดูว่ามีบางสิ่งในปากขณะที่ร้องกลั้นหรือไม่ หากมีให้รีบหยิบออก เพราะอาจทำให้ลูกสำลักหรือติดคอจนทำให้เกิดอันตรายได้ คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติ อย่าแสดงอาการตื่นตกใจเวลาที่ลูกร้องกลั้น เพราะอาจทำให้ลูกตกใจมากขึ้น บางครั้งการวางผ้าเปียกหรือเย็นบนหน้าเด็ก (ไม่ปิดทางเดินหายใจ) อาจทำให้อาการสั้นลง สุดท้ายไม่ควรตามใจ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการรู้สึกขัดใจ เพราะเด็กสามารถเรียนรู้ว่า หากต้องการสิ่งใด การร้องไห้กลั้นจะเป็นเงื่อนไขในการได้ในสิ่งที่ต้องการ เมื่อลูกมีอาการร้องไห้แล้วกลั้นในครั้งแรก คุณพ่อ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าไม่มีความผิดปกติอย่างอื่นซ่อนเร้น เช่น ภาวะเลือดจาง โรคหัวใจ หรือ โรคลมชัก ในเด็กที่มีโรคหัวใจหรือโรคระบบหลอดเลือด หากมีอาการร้องกลั้นจนหน้าเขียว คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย หากเด็กร้องกลั้นแล้วไม่มีการตอบสนอง ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทร. 1669
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @ningg599, @สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี