เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันแถลงข่าวการพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง และภาพเขียนสีในแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดยนายพนมบุตร กล่าวว่า เมื่อปี 2539 ได้มีการพบภาพเขียนสีโบราณเป็นครั้งแรก บริเวณเพิงผาฝั่งบึงบัว ในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จากนั้นปี 2560 ได้ค้นพบแหล่งภาพเขียนสีเพิ่มใหม่ในบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอดที่ถ้ำโหว่ หุบตาโคตร ซึ่งมีอายุอยู่ในสมัยเดียวกับภาพเขียนสีบนเพิงผาฝั่งบึงบัว ต่อมาปี 2563 กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี มีโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยมีพื้นที่สำรวจหลักที่เขาสามร้อยยอดเพื่อศึกษาเรื่องราวของมนุษย์โบราณในพื้นที่ดังกล่าว โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ผลการสำรวจได้พบแหล่งโบราณคดีแหล่งใหม่เพิ่มเติมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จำนวน 7 แหล่ง ซึ่งแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดินเป็นหนึ่งในแหล่งที่มีการค้นพบใหม่ เป็นถ้ำภูเขาหินปูน ขนาดค่อนข้างใหญ่ ตัวถ้ำอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 125 เมตร ปากถ้ำหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก ขนาดความกว้างของปากถ้ำประมาณ 9.5 เมตร ภายในถ้ำแบ่งออกได้เป็น 5 คูหา ทุกคูหามีร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์ในอดีต และมี 3 คูหาที่พบภาพเขียนสี

นายพนมบุตร กล่าวต่อไปว่า จากนั้นปีงบประมาณ 2565 จนถึงปัจจุบันสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้ขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน เพื่อศึกษาร่องรอยกิจกรรม วัฒนธรรม พิธีกรรมความเชื่อของคนโบราณที่เคยอาศัยอยู่ในถ้ำดิน และในบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย โดยเลือกขุดค้นในคูหาที่ 3 ชิดผนังถ้ำ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการพบทั้งภาพเขียนสีบนผนังและโบราณวัตถุอยู่บนพื้นถ้ำ ผลการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีพบว่าที่ถ้ำดินมีหลักฐานคนยุคก่อนประวัติศาสตร์เข้ามาใช้พื้นที่หลายช่วงเวลา และยังพบโบราณวัตถุประเภทเปลือกหอย กระดูกสัตว์ และเมล็ดพืชจำนวนมาก และเมื่อขุดค้นจนถึงระดับความลึกประมาณ 2 เมตรจากพื้นถ้ำ ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่จำนวน 1 โครง จากการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าเป็นโครงกระดูกเด็ก อายุอยู่ในช่วงประมาณ 6-8 ปี โดยพิจารณาจากการขึ้นของฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ที่ขึ้นแล้ว โดยนักโบราณคดียังตั้งชื่อให้ด้วยว่า “ปังปอน” ซึ่งจากการคัดเลือกตัวอย่างถ่าน และเปลือกหอย จำนวน 5 ตัวอย่าง ส่งไปหาค่าอายุด้วยวิธี Accelerator Mass Spectrometer (AMS) ณ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ BETA ANALYTIC Inc. สหรัฐอเมริกา ผลการกำหนดอายุทำให้ทราบว่าที่ถ้ำดินนี้มีคนเข้ามาอยู่อาศัยและใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ประมาณ 29,000 ปีขึ้นมาจนถึงประมาณ 11,000 ปี ส่วนโครงกระดูกมนุษย์นั้นมีอายุเก่าแก่กว่า เนื่องจากพบอยู่ในระดับความลึกต่ำลงไปที่ประมาณ 2 เมตร จึงมีอายุไม่ต่ำกว่า 29,000 ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจหาค่าอายุที่แท้จริงต่อไป


อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า หลักฐานของโครงกระดูกมนุษย์ที่มีอายุมากกว่า 29,000 ปีนั้น นับเป็นโครงกระดูกมนุษย์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และยังพบอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดด้วย จัดเป็นมนุษย์สมัยหินเก่า (Palaeolithic Period) เทียบได้กับยุคทางธรณีกาลคือ สมัยไพลสโตซีน หรือยุคน้ำแข็ง ตอนปลาย ประมาณ 11,700-125,000 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีธารน้ำแข็งปกคลุมพื้นโลก เป็นช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น ส่งผลให้บริเวณอ่าวไทยเป็นผืนแผ่นดินเชื่อมต่อถึงอินโดนีเซีย การพบหลักฐานการอยู่อาศัยและการฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ในช่วงยุคดังกล่าวในครั้งนี้ ถือเป็นข้อมูลใหม่ที่สำคัญที่จะช่วยอธิบายวิถีการดำรงชีวิตและการปรับตัวของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมในอดีตตั้งแต่ช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็นจนเข้าสู่ช่วงที่อากาศเริ่มอบอุ่นขึ้นเมื่อสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง และระดับน้ำทะเลที่ท่วมสูงขึ้น จนกระทั่งบริเวณนี้มีสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศที่หลากหลายเช่นในปัจจุบัน ทั้งอาจเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับคน สังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมโบราณของคนยุคแรกเริ่มในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้านนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ขณะนี้เปิดให้นักโบราณคดีเข้าไปสำรวจเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อมีการสำรวจเสร็จสิ้นแล้ว จะมีการพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติต่อไป