จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับคำร้องขอให้ตรวจสอบประเด็นการได้มาซึ่ง สว.ในปี 2567 เนื่องจากพบเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการได้มาซึ่ง สว. ทีมข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ ตรวจสอบรายละเอียดเอกสารดีเอสไอลงวันที่ 3 ก.พ. 2568 ส่งถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง แจ้งความคืบหน้าผลการสืบสวน และขอความเห็นการดำเนินคดี กรณีคำร้องขอความเป็นธรรม เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. อธิบดีดีเอสไอลงนามในคำสั่งลงวันที่ 4 ก.ย. 2567 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวน ตามมาตรา 23/1 วรรคสอง เป็นเรื่องสืบสวนที่ 151/2567
พิจารณาจากพยานหลักฐานในชั้นนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่ามีขบวนการในรูปแบบคณะบุคคล มีการจัดตั้งเครือข่ายขบวนการวางแผนสลับซับซ้อน จัดการให้มีผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาของกลุ่มในระดับอำเภอ สมัครกลุ่มละ 5 คน รวม 100 คน (สว.มี 20 กลุ่ม) 928 อำเภอ (หลักเกณฑ์เข้ารอบเลือกได้ 5 คน) บางจังหวัดมีผู้สมัครจำนวนมาก สำหรับค่าตอบแทนนั้น ระดับอำเภอ จำนวน 5,000 บาท ระดับจังหวัด จำนวน 10,000 บาท และระดับประเทศ จำนวน 40,000-100,000 บาท และถ้าได้ สว.มากกว่า 120 คน จะได้เพิ่ม จำนวน 100,000 บาท
(ผู้สื่อข่าวตรวจเช็กข้อมูลเพิ่มเติม ว่า ผู้ลงคะแนนจะได้รับเงินเมื่อเลือกตามโพยที่มีผู้จัดไว้ให้ โดยผู้จัดจะถูกเรียกว่า “เทรนเนอร์” ซึ่งข้อมูลตรงนี้ได้จากผู้สมัครที่เข้าถึงรอบระดับประเทศ และเก็บเงินไว้เป็นหลักฐาน)
หลังจากวันที่ 16 มิ.ย. 2567 ภายหลังผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัด ขบวนการได้นัดหมายผู้สมัคร สว. ระดับประเทศ ไปจัดทำโพยฮั้ว สว.ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนครนายก ในวันที่ 24 มิ.ย. 2567 เวลา 16.00 น. ซึ่งมีการจ่ายเงินสดเป็นมัดจำ จำนวน 20,000 บาท ส่วนที่เหลือได้รับภายหลังจาก กกต.รับรองผลเลือกแล้ว โพยฮั้ว สว. มีหมายเลขจำนวน 2 ชุด กลุ่มละ 7 คน รวม 140 คน
ในการเลือก สว. ระดับประเทศ พบว่าขบวนการจัดตั้งมีจำนวนผู้สมัคร สว. ซึ่งอยู่ในขบวนการ จำนวนประมาณ 1,200 คน ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 เวลา 05.00 น. ขบวนการได้แจกเสื้อสีเหลืองให้กับผู้สมัคร สว.ระดับประเทศ และขบวนการได้อำนวยความสะดวกโดยจัดหารถตู้โดยสารให้เดินทางไปเมืองทองธานีเพื่อเลือก สว.ระดับประเทศ และผลการเลือก สว.ในรอบเช้าและรอบไขว้ เป็นไปตามโพยฮั้วทุกประการ โพยฮั้ว สว. 2 ชุด กลุ่มละ 7 คนนั้น พบว่าเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สว. จำนวน 138 คน และอยู่ในลำดับสำรอง 2 คน
การกระทำความผิดของกลุ่มขบวนการในครั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ กระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ กระทำผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ โดยทราบว่ามีการวางแผนมาตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการเลือก สว. ต่อเนื่องมาจนถึงภายหลังจากการเลือก สว.เสร็จสิ้นแล้ว มี ลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งแยกหน้าที่ มีฝ่ายไอทีเตรียมโปรแกรมคำนวณการลงคะแนน ออกเป็นโพยฮั้วเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จำนวน สว.ตามที่ต้องการ เตรียมบุคคลที่มาลงคะแนนที่เรียกว่ากลุ่ม “พลีชีพ” ในการดำเนินการกับขบวนการดังกล่าว จึงต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนเป็นพิเศษ

“จึงมีหนังสือถามว่า กกต.จะรับดำเนินการสอบสวนเองในการกระทำความผิดทางอาญาทุกข้อกล่าวหาทุกฉบับกฎหมาย หรือประสงค์จะให้ดีเอสไอเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนในการกระทำความผิดทางอาญาทุกข้อกล่าวหาและทุกฉบับกฎหมาย” จากนี้ก็ต้องรอดูผลประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ที่ “บิ๊กอ้วน”ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธาน วันที่ 25 ก.พ.ว่าจะรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษหรือไม่
เมื่อ กคพ.ส่งหนังสือไปคงได้คำตอบจาก กกต.และคงเป็นที่น่าจับตาอุณหภูมิทางการเมือง ว่าจะเป็นการตีกระทบพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ เพราะ สว.จำนวนมากก็ถูกมองว่า “เป็นสายสีน้ำเงิน” มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคภูมิใจไทย ขณะที่ ประธาน กคพ.คือผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยด้วย

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ให้สัมภาษณ์ว่า หากที่สุดแล้วไปถึงขั้นล้มกระดานเลือก สว. ก็คิดว่าก่อนที่จะมีการล้มกระดานควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการได้มาซึ่ง สว.เพื่อเปลี่ยนกติกาก่อน เพราะหากมีการล้มกระดานจริง แต่ยังใช้กติกาเดิม มันก็เหมือนเดิม ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร ประชาชนควรเลือกเหมือน สส.จะดีที่สุด
“หาก สว.เชื่อว่าตัวเองมาอย่างยุติธรรมก็ควรให้กระบวนการยุติธรรมเข้ามาตรวจสอบ ที่ผ่านมาเราเป็น สว.เสียงข้างน้อย เขาไม่เคยเห็นหัวเรามาตลอด ไม่เคยให้เราไปมีส่วนร่วมในกระบวนการที่จะคัดสรรบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือใน กมธ. เมื่อ สว.เสียงข้างมากจะเข้าชื่ออภิปรายรัฐมนตรี หรืออะไรต่างๆ เราก็คงไม่ไปสนับสนุน”
ในส่วนการทำงานรัฐบาล ฝ่ายค้าน “หัวหน้าเท้ง” นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มองว่า เห็นได้ชัดว่าไม่มีความเป็นเอกภาพ ล่าสุดคือการที่สภาล่ม จากการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่หนึ่ง การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะมีประเด็นที่บางส่วนก็ได้รับมาจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

“การขาดความมีเอกภาพ ทำให้การดำเนินนโยบายหลายอย่างที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาไม่สามารถที่จะเดินหน้าเพื่อประชาชนได้ การจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น เป็นการผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ซึ่งเราเองไม่เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้จะช่วยในการผลักดันนโยบายใหญ่ให้กับประชาชนได้”
“หัวหน้าเท้ง” กล่าวต่อว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีเรื่องความไม่โปร่งใส การไม่ลงรอยกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง รวมถึงปัญหาที่สำคัญของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือปัญหาอื่น การเตรียมการอภิปรายเกือบ 100% แล้ว เรื่องเนื้อหาก็มีความเข้มข้น ยังไม่ข้อบอกผู้อภิปรายและประเด็น และเชื่อว่า จะไม่มี สส.ของพรรค ปชน.เป็นงูเห่าไปโหวตให้รัฐบาล ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้นควบคุมเขาไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงสูตรรัฐบาลใหม่ เป็นไปได้หรือไม่ที่พรรค ปชน.จะเข้าร่วม นายณัฐพงษ์ กล่าวทันทีว่า “คงเป็นไปไม่ได้ครับ เราประกาศชัดว่าในสมัยสภาชุดนี้คงไม่ได้ไปร่วมเป็นฝ่ายบริหารแน่นอน ขอทำหน้าที่ฝ่ายค้านต่อ”
ต่อมา นายณัฐพงษ์ บรรยายในหัวข้อ “การเมืองไทย ในทรรศนะ เท้ง-ณัฐพงษ์” กับ นายสรกล อดุลยานนท์ นักเขียนชื่อดัง ฉายาหนุ่มเมืองจันท์ และกล่าวตอนหนึ่งว่า เชื่อว่าเป็นไปตามหลักฐานที่ปรากฏว่ากระบวนการเลือก สว. ครั้งนี้ไม่โปร่งใส ส่วนกรณี 44 สส. ถูกยื่นตรวจสอบจริยธรรม ก็ยังไหลแล้วเดินหน้าทำงานต่อ เชื่อว่าทุกคนไม่มีข้อกังวลใจว่าจะหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ เพราะหากมีความกังวล การเดินหน้างานในสภาจะหยุดชะงักลง ทุกการกระทำและการแสดงออกต้องสะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้กังวลใจในส่วนนี้ และไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องปกติที่ใครจะต้องโดน

“ถ้าพรรค ปชน.ยังตั้งใจทำงาน ในการเลือกตั้งปี 2570 เชื่อว่าชนะการเลือกตั้งได้ กลุ่มชนชั้นนำจะยอมให้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ แต่หน้าที่ขณะนี้คือเดินหน้าต่ออย่างเต็มที่ จะต้องชนะการเลือกตั้ง เพื่อนำใบอนุญาตใบที่ 1 ในการเป็นรัฐบาลให้ได้ก่อน ซึ่งในสมัยนี้ยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน หากสมการการเมืองเปลี่ยน
สิ่งที่เกิดขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศเสียเวลาไปเยอะ โดยเฉพาะการสลับขั้วการเมืองไปมา ถ้าเกิดอะไรขึ้น มั่นใจว่าเพื่อนที่ร่วมเดินทางมาไม่มีใครย้ายค่าย การจับขั้วทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าอยู่ที่พรรคภูมิใจไทยออกมาประกาศจุดยืนตัวเองอย่างไร รวมถึงจุดยืนแต่ละพรรคการเมือง หากจำเป็นต้องจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาล ต้องลงนาม MOU การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอยู่ในวาระที่ตกลงร่วมกัน” หัวหน้าเท้ง กล่าว
ปชน.ยังเริ่มเตรียมความพร้อมสู้ศึกสนามเลือกตั้ง กทม.แล้ว โดยวันอังคารที่ 25 ก.พ.นี้ พรรค ปชน.จะเปิดแคมเปญรับสมัคร สก. เปิดสนามเลือกตั้ง กทม. ส่วนบุคคลที่จะส่งชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. อยู่ระหว่างการเจรจาพูดคุย โดยเชื่อว่าจุดแข็งของพรรคประชาชนมี สส.ในสภา ทำให้ผลักดันวาระต่างๆ ได้
“ทีมข่าวการเมือง”