เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 68 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมชุดเฉพาะกิจ (ฉก.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ฝ่ายปราบปรามการยาสูบได้ร่วมกันลงพื้นที่ถนนเลียบคลองสอง และถนนสุเหร่าคลอง 1 เขตคลองสามวา ในพื้นที่ สถานีตำรวจนครบาลคันนายาว (สน.คันนายาว) ปรากฏว่าหลายแห่งข่าวรั่ว พอทราบข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะลงตรวจปิดร้านกันหมด
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า จากนั้นหน่วยข่าวได้เฝ้าสังเกตการณ์ที่บริเวณตลาดสามวาพลาซ่า ถนนเลียบคลองสอง เขตคลองสามวา พบว่าเปิดให้บริการทุกวันแต่เมื่อทราบข่าวว่าจะมีเจ้าหน้าที่ลงตรวจได้ปิดร้านแต่ยังพบข้อความด้านหน้าว่าชุดนักเรียนห้ามเข้า จากนั้นทีมฉก. ได้ลงพื้นที่บริเวณปากซอยคู้บอน 25 ถนนคู้บอน โดยไม่แจ้งกำหนดการ พบร้านเปิดขายบุหรี่ไฟฟ้า และเข้าจับกุมร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ผิดกฎหมาย โดยเปิดร้านเป็นอาคารพาณิชย์ นำส่งพนักงานสอบสวน สน.คันนายาว ดำเนินคดี
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า จากนั้น เวลา 15.15 น. ทีมฉก. “จิรายุ” ลงพื้นที่ในซอยคู้บอน 27 เขตพบร้านขายบุหรี่ไฟฟ้า เปิดให้บริการหลายร้านได้แสดงตัวจับกุมส่ง สน.คันนายาว และเมื่อเวลา 15.20 น. นำทีม ฉก. ชุด 2 ลงพื้นที่ซอยนวลจันทร์ 35 ท้องที่ สน.โคกคราม พบร้านขายอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า มีลักษณะเป็นการขายส่งมีอุปกรณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นอาร์ตทอยและสีสันสวยงาม เจาะกลุ่มเด็ก และเยาวชน
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ได้ให้นโยบายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการกวดขันกวาดล้างจับกุมการขายบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา และอุปกรณ์ต่อเนื่องผิดกฎหมาย ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองจำนวนมาก ว่ามีตำรวจในบางพื้นที่ ปล่อยปละละเลย บางแห่งกลับปล่อยให้ตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา นอกจากนี้ตนได้รับเอกสารงานลับ เรื่องธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าสีเทามูลค่ากว่า 5 พันล้านต่อปี รวมทั้งแผนผังผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ทั้งอุปกรณ์และน้ำยาจากต่างประเทศผ่านช่องทางต่างๆ โดยระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ทั้งผู้ดูแลสินค้าน้ำเข้าที่ด่านพรมแดน ช่องทางธรรมชาติ 51 แห่ง เพราะบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ผลิตในไทยและไม่ได้ตกลงมาจากบนฟ้า
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ขณะที่รายงานฉบับดังกล่าวพบว่า มีเกือบทุกจังหวัดโดยเฉพาะใน กทม. พบเกือบทุกเขต 50 เขต ที่มีการเปิดร้านขายอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างโจ่งครึ่มไม่สนใจตำรวจ บางแห่งถึงขั้นลงโฆษณาในโซเชียลและบางแห่งทำหน้าร้านชนิดที่ไม่เกรงกลัวใดๆ ทำให้สังคมเกิดข้อกังขาว่า เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่หน้าด่านที่ควบคุมสินค้าต่างๆ และตำรวจทุกหน่วยที่มีหน้าที่ปราบปรามจับกุม ทั้งหน้าร้าน และในโซเชียล รู้เห็นเป็นใจและรับสินบนจากร้านค้าขายของผิดกฎหมายเหล่านี้หรือไม่ ทั้งนี้รายงานดังกล่าวมีการรวบรวมรายชื่อของร้าน จุดที่ตั้ง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ การจ่ายส่วยสถานีตำรวจที่รับผิดชอบทั่วประเทศ ที่กล่าวหาว่ามีการรับส่วยเดือนละ 5,000-10,000 บาท/ร้านค้า ส่วนผู้นำเข้าเจ้าละกว่า 200,000 ขึ้นอยู่กับขนาดของร้านและเมืองท่องเที่ยวต่างๆ อีกด้วย
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ในพื้นที่เขตคันนายาว คลองสามวา กทม. ภายใต้ความรับผิดชอบของ สน.คันนายาว กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เป็นเพียง 1 โรงพักจากกว่า 50 เขตในนครบาล และอีกกว่า 500 อำเภอภายใต้ความรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธร (สภ.) ซึ่งหลังจากตนเห็นรายงานในเอกสารลับระบุ หลายจุดในพื้นที่ เขตคันนายาว คลองสามวา ตนก็ได้โทรศัพท์สอบถามกับ พ.ต.อ.นเรนทร์ เครื่องสนุก ผู้กำกับการ สน.คันนายาว เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมาว่า มีในพื้นที่หรือไม่ และขอให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ซึ่ง พ.ต.อ.นเรนทร์ ก็ยืนยันกับตนอย่างหนักแน่นว่า ในพื้นที่รับผิดชอบของ สน.คันนายาว ไม่มีร้านค้าเปิดขายบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ต่อเนื่องผิดกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งขัดแย้งต่อข้อมูลที่ได้รับรายงานในบัญชีลับบุหรี่ไฟฟ้ายานรกของเด็กและเยาวชน ทำให้น่าสงสัยว่าร้านเหล่านี้เปิดเป็นร้านค้าเป็นเรื่องเป็นราว บางแห่งมีตู้แดงสายตรวจติดอยู่ไม่ไกลนักห่างจากโรงเรียนแค่ไม่ถึง 100 เมตร เหตุใดจึงไม่ทราบ ซึ่งตนจะดำเนินการตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับสินบน หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหรือไม่ เพื่อเอาผิดทางวินัย และทางอาญาต่อไป
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า จากนั้นหน่วยข่าวได้เฝ้าสังเกตการณ์ที่บริเวณตลาดสามวาพลาซ่า ถนนเลียบคลองสอง เขตคลองสามวา ท้องที่ สน.คันนายาว พบว่าเปิดให้บริการทุกวันแต่เมื่อทราบข่าวว่าจะมีเจ้าหน้าที่ลงตรวจได้ปิดร้านแต่ยังพบข้อความด้านหน้าว่าชุดนักเรียนห้ามเข้า อีกทั้งมีผู้ปกครองร้องเรียนมาว่า ในพื้นที่เขตคลองสามวา คันนายาวเปิดเป็นจำนวนมาก หลายแห่งมีนักเรียนเข้าไปซื้อเป็นจำนวนมากจนผิดสังเกตถึงขนาดเจ้าของร้านเถื่อนเหล่านี้ ต้องแปะกระดาษประกาศห้ามนักเรียนในเครื่องแบบเข้าซื้อเลยทีเดียว
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ตนขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และผู้บังคับบัญชา ให้เห็นใจถึงหัวอกพ่อแม่ซึ่งที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชนจำนวนมากเข้าไปซื้อทั้งน้ำยาและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจนทำให้กิจการเหล่านี้รุ่งเรือง ซึ่งหากไม่มีเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจ หรือปล่อยปละละเลยก็จะไม่สามารถเปิดจำหน่ายได้ ทั้งนี้ตนจะรวบรวมข้อมูลและพฤติกรรมของสถานีตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ส่งให้กับนายกฯ เพื่อพิจารณาต่อไป.