เมื่อวันที่ 23 ก.พ. พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผบก.สอท.1 พล.ต.ต.ศรายุทธ จุณณวัตต์ ผบก.สอท.2 พล.ต.ต.ศุภกร ผิวอ่อน ผบก.สอท.5 พล.ต.ต.ศิลา กาญจน์รักษ์ ผบก.ตอท. และ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงผลการเปิดปฏิบัติการ EXIT SCAM ทลายขบวนการหลอกลงทุนคริปโตฯ เสียหายกว่า 30 ล้านบาท จับกุมหนุ่มชาวจีน พร้อมหญิงไทย จำนวน 2 ราย

พล.ต.ท.ไตรรงค์ เปิดเผยว่า คดีดังกล่าวนี้สืบเนื่องจากได้มีผู้เสียหายแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ ว่าถูกคนร้ายหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี) โดยได้มีบุคคลใช้ภาพโปรไฟล์หน้าตาดีติดต่อเข้ามาทางสื่อสังคมออนไลน์ จากนั้นได้ชวนพูดคุยจนเกิดความไว้ใจและเชื่อใจกัน ต่อมาคนร้ายได้ชักชวนให้ตนลงทุนเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มเว็บไซต์ชื่อ “neccorpo.site” อ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง ผู้เสียหายจึงหลงเชื่อโอนเงินลงทุน 1.7 ล้านบาท โดยช่วงแรกสามารถถอนเงินที่เป็นผลกำไรได้จริง กำไรครั้งแรก 10,000 บาท จากนั้นผู้ต้องหาได้ชักชวนลงทุนเพิ่มเรื่อยๆ และให้ผู้เสียหายดูในแพลตฟอร์มว่ามีกำไรเยอะมาก มีกำไรหลักล้านบาท และผู้เสียหายจึงได้ลงทุนในจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจะถอนเงินกลับถอนไม่ได้ เพราะผู้ต้องหาอ้างว่าถ้าจะถอนเงินต้องปลดโอนเงินเข้าไปอีกเพื่อปลดล็อกระบบ สุดท้ายสูญเงินไปกว่า 2 ล้านบาท

พล.ต.ท.ไตรรงค์ เผยอีกว่า ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสืบสวนกรณีดังกล่าว เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย จนสามารถขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหาหลักของขบวนการได้จำนวน 2 ราย คือ นายเชา (สงวนนามสกุล) สัญชาติจีน อายุ 34 ปี และ น.ส.นริศรา (สงวนนามสกุล) สัญชาติไทย อายุ 21 ปี และยังพบอีกว่าผู้ต้องหาดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับคดีหลอกลวงออนไลน์อื่นอีก 28 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการสืบสวนทราบว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย อาจมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกัน โดยฝ่ายหญิงมีอาชีพขายสินค้าย่านประตูน้ำ ต่อมาชายชาวจีนซึ่งมีภรรยาและครอบครัวอยู่แล้วได้มาพบรักจนมีความสัมพันธ์กัน ฝ่ายหญิงจึงเปิดบัญชีคริปโตฯ ให้ชายชาวจีนใช้ จากนั้นได้ร่วมกันเปิดร้านขายรองเท้าในย่านเยาวราช ซึ่งมีผลประกอบการไม่ค่อยดีนัก แต่ทั้งคู่กลับใช้ชีวิตหรูหรา ขับรถหรู ใช้สินค้าแบรนด์เนม และสะสมตุ๊กตา Bearbrick กว่า 30 ตัว

พล.ต.ท.ไตรรงค์ เผยต่อว่า กระทั่งวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา พล.ต.ต.ศิลา กาญจน์รักษ์ ผบก.ตอท. ได้เปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมาย 5 จุด ดังนี้ 1.ห้องพัก คอนโดฯ หรูริมแม่น้ำ ย่านพระราม 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กทม. 2.ห้องพัก คอนโดฯ หรูแห่งหนึ่ง ย่านสาทร เขตยานนาวา กทม. 3.คอนโดฯ หรูแห่งหนึ่ง ย่านตากสิน แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กทม. 4.ร้านขายรองเท้า ย่านเยาวราช แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กทม. และ 5.บ้านพักหลังหนึ่ง ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยจากการตรวจค้น ทำให้ทราบว่าผู้ต้องหา 2 รายนี้ เป็นกลุ่มผู้บริหารจัดการเงินของแก๊งสแกมเมอร์ในคดีดังกล่าว และเชื่อว่าอาจเป็นกลุ่มฟอกเงินให้แก่ขบวนการ จึงตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตุ๊กตา Bearbrick จำนวน 30 ตัว โทรศัพท์มือถือ จำนวน 11 เครื่อง รถยนต์ ยี่ห้อ BMW รุ่น X-1 จำนวน 1 คัน รถยนต์ ยี่ห้อ Toyota รุ่น Alphard จำนวน 1 คัน สัญญาปล่อยเช่าคอนโดฯ จำนวน 1 ฉบับ โฉนดคอนโดฯ จำนวน 1 ฉบับ หนังสือเดินทาง (Passport) จำนวน 6 เล่ม ตู้เซฟนิรภัย พร้อมกุญแจ จำนวน 1 ตู้ เสื้อผ้า เครื่องประดับแบรนด์เนม รวมมูลค่าของกลางและทรัพย์สินที่ตรวจยึดได้กว่า 20 ล้านบาท

พล.ต.ท.ไตรรงค์ เผยด้วยว่า เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, สมคบกันโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้สมคบกัน, ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” ก่อนนำตัวพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ยังคงให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ส่วนเส้นทางการเงินที่เป็นคริปโตฯ ของทั้งคู่จะมีการจำหน่ายจ่ายโอนไปที่ไหนต่อนั้นเจ้าหน้าที่จะไปขยายผลต่อไป

พล.ต.ท.ไตรรงค์ เผยอีกว่า นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังพบข้อมูลสำคัญในโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา รวมทั้งข้อมูลสลิปโอนเงินกว่า 5,000 รายการ ในระยะเวลาไม่ถึงปี ซึ่งมียอดการโอนแต่ละครั้ง ตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท ทำให้เชื่อว่าขบวนการดังกล่าวอาจมีเงินหมุนเวียนหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผล เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดในขบวนการดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป แล้วจะดูในฐานความผิดอื่นด้วยนอกจากเรื่องการฟอกเงิน

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวด้วยว่า จากการสืบสวนยังพบว่าในแพลตฟอร์ม neccorpo.site มีผู้เสียหายรายอื่นถูกหลอกลวงอีกกว่า 28 คดี ถ้าขยายผลจะทำให้พบจำนวนผู้เสียหายมากกว่านี้แน่นอน และจะขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องได้เพิ่มเติม ส่วนท่านใดสนใจจะลงทุนในคริปโตฯ ขอให้เลือกลงทุนในบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ตลท. เพื่อไม่ตกเป็นผู้เสียหายในการถูกหลอกลงทุน

“คดีการรับแจ้งความอาชญากรรมออนไลน์มีแนวโน้มลดลง จากวันละประมาณ 1,200 คดี ตอนนี้เฉลี่ยเหลือวันละไม่ถึง 1,000 คดี สามารถกดกราฟการรับแจ้งลดลงได้ ส่วนสถิติในคดีกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกให้รักและลงทุน หรือหลอกลงทุน หรือข่มขู่ให้กลัวและโอนเงิน เป็นต้น เริ่มมีสถิติลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่สถิติคดีที่ไปเพิ่มขึ้นจะอยู่ในกลุ่มของการหลอกขายสินค้าและบริการ ตรงนี้จึงอยากเตือนประชาชนว่าหากจะซื้อสินค้าและบริการจะต้องตรวจสอบช่องทางที่จะสั่งซื้อให้ก่อน และควรซื้อจากแพลตฟอร์มที่ได้รับมาตรฐาน เป็นผู้ขายสินค้าหลัก” ผบช.สอท. ระบุ

ขณะที่ พ.ต.ท.วัชรินทร์ อ่วมฟุ้ง รอง ผกก.กลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กล่าวว่า กลุ่มคนร้ายมีพฤติการณ์มีลักษณะไฮบริดสแกม ซึ่งจากการสืบสวนเส้นทางการเงินพบว่าทั้งคู่มีการรับโอนเงินเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายจริง และเกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวเปิดขึ้นมาไม่ถึงปี ตอนนี้เราได้สั่งปิดแล้ว การหลอกพวกนี้แพลตฟอร์มมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว ขณะที่พฤติการณ์ของชายชาวจีน ได้เดินทางเข้า-ออกในไทย ระยะเวลาประมาณ 3-4 ปี แต่เป็นเข้าๆ ออกๆ และมีเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศกัมพูชา และประเทศจีน

พล.ต.ท.ไตรรงค์ เผยถึงกรณีที่วันนี้ตำรวจกัมพูชาได้เข้ากวาดล้างอาคาร 3 ชั้นในพื้นที่ปอยเปต ซึ่งเป็นฐานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่และสามารถได้ตัวชาวต่างชาติมากกว่า 200 ราย หนึ่งในจำนวนนี้เป็นชาวไทย 109 รายนั้น โดยปฏิบัติการดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ได้ประสานข้อมูลเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่ปอยเปตกับทางตำรวจกัมพูชา เพื่อให้ทางตำรวจกัมพูชาดำเนินการกวาดล้างและจับกุมอาคารที่เชื่อว่าเป็นฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จนนำมาสู่การกวาดล้างจับกุมในวันนี้ ซึ่งในส่วนของตำรวจไซเบอร์ หลังจากนี้จะต้องรอการคัดกรองข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยตำรวจตามชายแดนที่เป็นด่านหน้า เพื่อนำข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์และโทรศัพท์มือถือของคนไทยที่ให้การช่วยเหลือมาได้มาตรวจสอบขยายผลต่อไปว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือไม่ ก่อนจะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป โดยยืนยันว่า จะดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งการหรือตัวเล็กก็ตาม.