จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับคำร้องขอความเป็นธรรม จำนวน 3 คำร้อง ขอให้มีการตรวจสอบประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี 2567 เนื่องจากพบเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการได้มาซึ่ง สว. พบข้อพิรุธในกระบวนการในการเลือก สว. จำนวน 200 ราย และขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิก สว. สาย ข กลุ่มที่ 1 และกระบวนการเลือก สว. ที่อาจมีกรณีความผิดต่อกฎหมาย
รวมทั้งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิก สว. กลุ่มที่ 18 และคัดค้านการประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิก สว. กระทั่งต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการตั้งเลขสืบสวนที่ 151/2567 เพื่อทำการสืบสวน บันทึกถ้อยคำให้การของพยาน และแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77(1) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 (ความผิดฐานอั้งยี่) และความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งการกระทำผิดทางอาญาดังกล่าว กระทำต่อบทกฎหมายอื่นนอกจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กกต. จึงควรให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนดำเนินคดีอาญาตามความผิดที่พบ
ทำให้ดีเอสไอได้มีหนังสือสอบถามกลับ กกต. ว่ามีความผิดทางอาญาใดบ้างที่ กกต. ประสงค์จะรับไว้ดำเนินการสอบสวนเอง และความผิดทางอาญาใดบ้างที่ กกต. ประสงค์จะให้ดีเอสไอสอบสวน หรือ กกต. จะสอบสวนเองในการกระทำความผิดทางอาญาทุกข้อกล่าวหา ทุกฉบับกฎหมาย หรือประสงค์จะให้ดีเอสไอเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนในการกระทำความผิดทางอาญาทุกข้อกล่าวหา และทุกฉบับกฎหมาย แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 68 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ทำหนังสือแจ้งกลับไปยังอธิบดีดีเอสไอว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้วหรือไม่ ยังไม่ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูง ว่า จากกรณีที่มีหนังสือสอบถามการดำเนินการตรวจสอบเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิก สว. 2567 ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าควรเป็นอำนาจของหน่วยงานในการไปดำเนินการต่อนั้น ในเรื่องนี้จะมีความคืบหน้าสำคัญ คือ ในวันอังคารที่ 25 ก.พ. นี้ เวลา 13.30 น. ที่ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม ชั้น 10 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ จะมีการประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) หรือ Board of Special Case ครั้งที่ 2/2568 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการโดยตำแหน่ง (หรือผู้แทนซึ่งปลัดกระทรวงยุติธรรมมอบหมาย) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรรมการและเลขานุการ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในฐานะกรรมการ

อาทิ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ เป็นต้น รวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ เตรียมบรรจุเรื่องสืบสวนที่ 151/2567 กรณี การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และประมวลกฎหมายอาญา เป็น “คดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2)” กล่าวคือ เป็นคดีความผิดทางอาญาอื่น ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ กำหนดให้เป็นคดีพิเศษ
แหล่งข่าวเผยอีกว่า สำหรับบทบาทของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เนื่องจากมีผู้ที่ได้มาร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบให้ความเป็นธรรมในเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี 2567 นั้น คณะกรรมการฯ จะมีหน้าที่ในการดูว่าภายหลังจากที่มีผู้มาร้องแล้ว และพนักงานสืบสวนได้มีการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ และเห็นว่าเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดเป็นคดีพิเศษ จึงได้มีการเสนอมายังที่ประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษ เพื่อขอมติพิจารณาให้ความเห็นชอบว่าจะรับเป็นคดีพิเศษ เนื่องด้วยเป็นคดีความผิดทางอาญาอื่น เพราะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงความเสียหายของประเทศ มีการกระทำในรูปแบบคณะบุคคล องค์กร และตามขั้นตอนแล้ว
หากที่ประชุม กคพ. มีมติเห็นชอบรับเป็นคดีพิเศษ ก็จะต้องมีการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าวขึ้นมา 1 ชุด โดยมีทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอเองเพื่อรับหน้าที่ไปดำเนินการสอบสวนโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม คณะพนักงานสืบสวนของดีเอสไอ (เลขสืบสวนที่ 151/2567) ก็ได้มีการไปรวบรวมพยานหลักฐานพอสมควรแล้ว ทั้งนี้ การจะรับเป็นคดีพิเศษได้นั้น ในที่ประชุม กคพ. ก็ต้องรับฟังความเห็นของอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และท่านอื่นร่วมด้วย
แหล่งข่าวเผยต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตด้วยว่าถ้าหากบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) รับดำเนินการเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ มีการตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และจัดทำสำนวนการสอบสวน แต่ระหว่างนั้น ทาง กกต. อาจใช้สิทธิในฐานะกฎหมายขององค์กรอิสระ ซึ่งได้มีการระบุไว้ว่า หากเลขาธิการ กกต. เห็นว่าเรื่องดังกล่าวมันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จะทำให้เลขาธิการ กกต. สามารถมีหนังสือมาขอให้ดีเอสไอ ส่งสำนวนให้ กกต. ภายใน 7 วันได้ ซึ่งดีเอสไอก็อาจต้องทำ เพราะกฎหมายเปิดทางให้ กกต. สามารถเอาไปดำเนินการได้

แม้ว่าดีเอสไอจะทำสำนวนในความผิดอาญาอื่น (กฎหมายอาญา มาตรา 209 ความผิดฐานอั้งยี่ และความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542) แต่กฎหมายขององค์กรอิสระค่อนข้างมีความครอบคลุม เนื่องจากสาเหตุหลักเกิดมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าหากเป็นรูปการณ์เช่นนั้น ก็เหมือนเป็นการนำเรื่องเข้าสู่ระบบการตรวจสอบของ กกต. และแม้เป็นเรื่องอาญาก็เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่ง กกต. ก็มีอำนาจในการส่งฟ้องในคดีอาญาเช่นเดียวกัน หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
แหล่งข่าวเผยด้วยว่า ในการสืบสวนเรื่องนี้ถือว่ามีพยานจำนวนมาก เพราะมีผู้เสียหายเยอะ มีผู้ได้รับผลกระทบเยอะ แม้มีคนเข้าร่วมงานแต่ก็ไม่ได้ไปร่วมสังฆกรรมด้วย อย่างที่มีข่าวปรากฏว่าคนอยู่ต่างถิ่นต่างที่ของประเทศมารวมกันได้อย่างไร มานอนโรงแรมเดียวกันได้อย่างไร รวมถึงเวลาลงคะแนนเสียงก็เลือกเรียงหมายเลขกัน ซึ่งในทางคณิตศาสตร์คำนวณมันเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องพยานหลักฐานการบันทึกคลิปวิดีโอที่มีพฤติการณ์ถึงการฮั้วกัน มีการประชุมตกลงกัน เป็นต้น
เมื่อถามว่าหากบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติเห็นชอบรับไว้เป็นคดีพิเศษ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสอบสวนอยู่นั้น จะส่งผลทำให้การดำรงตำแหน่ง สว. ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หรือว่าต้องมีผู้ไปยื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อให้ สว. หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนนั้น แหล่งข่าวอธิบายว่า ถ้าหากสำนวนการสอบสวนดังกล่าว มีการดำเนินการจนถึงกระบวนการชั้นศาล ส่วนนี้อาจมีสิทธิที่จะทำให้มีผู้ร้องไปร้องขอให้ สว. หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ถ้าอยู่ระหว่างการสืบสวนหรือสอบสวน จะไม่มีผลใด ๆ
ทั้งนี้ แหล่งข่าวปิดท้ายว่า หากดีเอสไอจะต้องมีการสรุปสำนวนการสอบสวนในคดีดังกล่าว แต่ด้วยความที่พฤติการณ์ที่พบการกระทำความผิดทางอาญานั้นเกิดขึ้นก่อนการเลือก สว. ฉะนั้น ดีเอสไอก็จะต้องสรุปสำนวนคดีอาญาส่งให้พนักงานอัยการคดีพิเศษ ส่วนคดีเพิกถอนการเลือกตั้ง อาจต้องส่งให้ กกต. เพื่อ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ตนขอให้ความเห็นว่า ก็ต้องดูการสอบสวนและรายละเอียดภายในสำนวนของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ว่าท้ายสุดแล้วจะพบความผิดในเรื่องอะไรบ้าง.