นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า พพ. ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้บุกรุกพื้นที่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร จังหวัดจันทบุรี หลังพบการใช้พื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะกลางอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีขนาดกว่า 250 ไร่ พร้อมประสานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และกรมป่าไม้ เพื่อหารือถึงความชัดเจนและร่วมดำเนินการหาทางออกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

จากการตรวจสอบที่ผ่านมา พพ. พบว่า มีการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตรและปลูกพืชเศรษฐกิจในหลายจุด โดยบางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและบางส่วนเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ต้องได้รับการตรวจสอบสิทธิการครอบครอง โดย พพ. ได้ดำเนินการแจ้งพร้อมปักป้ายแจ้งเตือนให้ผู้บุกรุกออกจากพื้นที่โดยเร็ว และหากมีเอกสารสิทธิที่ถูกต้อง สามารถนำมายืนยันต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป โดยล่าสุด พพ. ได้แจ้งความดำเนินคดีผู้บุกรุกแล้ว 2 ราย และได้อยู่ระหว่างดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีอีก 15 ราย รวม 21 แปลงที่ดิน

อย่างไรก็ตาม พพ. ได้ติดตามตรวจสอบพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนกันยายน 2565-พฤศจิกายน 2567 ได้มีการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่เขื่อนคิรีธารและเข้าตรวจสอบพื้นที่ และลงพื้นที่ร่วมกับ ส.ป.ก. และกรมป่าไม้ ซึ่งจากการดำเนินการร่วมกัน พพ. ได้มีหนังสือขอยกเลิกหรือเพิกถอนสิทธิการครอบครองที่ดินบางส่วนจาก ส.ป.ก. และแจ้งดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ทั้งนี้ พพ. ยังได้เดินหน้าตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งพบการบุกรุกในพื้นที่เกาะกลางและริมเขื่อน และได้ทำการตรวจสอบหลักฐาน พบว่าไม่มีเอกสารสิทธิ จึงได้ทำการปักป้ายแจ้งเตือนผู้บุกรุกให้ออกจากพื้นที่ และเริ่มกระบวนการดำเนินคดีแจ้งความร้องทุกข์ และเตรียมการยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องต่อไป

โดยในสัปดาห์นี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้มอบหมายทีมงานและ พพ. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง หาความชัดเจนและแนวทางแก้ไขร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่นเพื่อป้องกันการบุกรุกในอนาคต พพ. ย้ำว่า การดำเนินคดีและมาตรการต่างๆ เป็นไปตามกรอบกฎหมาย พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อรักษาทรัพยากรน้ำและส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว นอกจากมาตรการทางกฎหมาย พพ. ยังเตรียมดำเนินการกำหนดหลักเขตพื้นที่ จัดทำถนน และก่อสร้างรั้วรอบเขื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงที่มีการกักเก็บน้ำเพิ่ม