เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายสมชาย แสวงการ อดีต สว. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมรับเรื่องกรณีที่กลุ่ม สว. ในบัญชีสำรอง ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบการได้มาซึ่ง สว. ปี 2567 นั้น ได้มาโดยมิชอบ ไว้เป็นคดีพิเศษ เพราะเกี่ยวข้องกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ว่า ตนสนับสนุนให้ดีเอสไอ รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ เนื่องจากตนเชื่อว่ามีประเด็นที่ต้องตรวจสอบให้เกิดความกระจ่างในประเด็นที่เป็นข้อเคลือบแคลงและสงสัยในกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมีการออกระเบียบของหน่วยงานเพื่อเอื้อให้เกิดช่องว่างในการฮั้วการเลือก ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นตนได้เคยตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และพบข้อมูลหลายประการที่ทำให้เชื่อได้ว่ากระบวนการเลือก สว. ใน 20 กลุ่มอาชีพ ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ มีกระบวนการจ้างวาน ขนคนและบล็อกโหวต

“ผมสนับสนุนให้ดีเอสไอตรวจสอบเรื่องดังกล่าวตามหน้าที่และอำนาจ และทำหน้าที่ให้เต็มที่ ทำให้ถึงที่สุด เพื่อให้เกิดการตรวจสอบกระบวนการได้มาซึ่ง สว. นั้น ไม่มีข้อเคลือบแคลงที่สังคมเชื่อว่ามีกระบวนการโกงการเลือก อย่างไรก็ดี ในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ดีเอสไอต้องระวังการทำหน้าที่ที่ไม่ใช่เพื่อต้องการเอา สว.ชุดปัจจุบันออก และสว.ชุดสำรองเข้าไปทำหน้าที่แทน และอย่าทำงานเพื่อรับใช้การเมืองเท่านั้น” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ในกระบวนการตรวจสอบของดีเอสไอ นั้น ตนสนับสนุนให้ยื่นต่อศาล เพื่อขอให้เปิดหีบการนับคะแนน สว.ระดับประเทศ เพื่อนับคะแนนต่อหน้าสาธารณะอีกครั้ง ซึ่งจากที่ตนมีข้อมูลพบว่า กระบวนการโหวต สว.ระดับประเทศนั้น มีการบล็อกโหวต และสร้างเลขชุด ซึ่งหากสามารถตรวจสอบการลงคะแนนแล้ว ไม่พบบัตรที่เป็นการลงคะแนนเลือกแบบเลขชุด จะเท่ากับว่าไม่มีการฮั้ว และ สว. ปัจจุบันคือผู้บริสุทธิ์ แต่หากพบบัตรลงคะแนนที่เป็นเลขชุด เท่ากับมีการบล็อกโหวตและฮั้วการเลือก

“ผมไม่มีอคติกับ สว.ชุดปัจจุบัน แต่ต้องการรักษาระบบของ สว. ที่เป็นสภาที่สองของระบบนิติบัญญัติให้เป็นหลักของบ้านเมืองต่อไป เพราะขณะนี้มีกระบวนการที่ต้องการเอาสภาสูงออก เพราะมองว่าไม่มีประโยชน์” นายสมชาย กล่าว

เมื่อถามว่า สว. ชุดปัจจุบันมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเกมการเมืองและเตรียมใช้สิทธิฟ้องกลับ รวมถึงใช้ตรวจสอบรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องด้วยการยื่นอภิปรายทั่วไป นายสมชาย กล่าวว่า เป็นสิทธิของ สว. ที่จะทำได้เช่นกัน หากพบว่ามีการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อตนเอง ส่วนการเปิดอภิปรายนั้น ทำได้เช่นกัน แต่ระวังจะถูกมองว่าทำเพื่อโยชน์ของตัวเอง.