เมื่อ วันที่ 10 ก.พ. กลุ่ม สว.สำรอง และตัวแทนผู้สมัครรับเลือก สว.จำนวนกว่า 40 คน นำโดย พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. เข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้สอบสวนการได้มาซึ่ง สว.ปี 2567 เป็นคดีพิเศษ เพราะเชื่อว่าเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งดีเอสไอรับคำร้อง และยังได้รับการร้องเรียนเพิ่มเติมในความผิดตาม ป.อาญา ม.116 ดีเอสไอจึงแจ้งเรื่องไปยังสำนักงาน กกต. เพื่อพิจารณาว่าจะรับเรื่องไปดำเนินการหรือจะมอบหมายให้ดีเอสไอดำเนินการ ดีเอสไอ กำลังรอว่า กกต.จะให้ดีเอสไอดำเนินการอย่างไร

เรื่องนี้ทำให้สภาสูงเดือดขึ้นมาทันที วันที่ 21 ก.พ. สว.ไปสัมมนาที่สวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ “บิ๊กหมง” มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา และคณะแถลงข่าวยืนยันว่า อำนาจในการตรวจสอบการเลือก สว. เป็นของ กกต. สว.ที่ได้รับเลือกเข้ามาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ฝักใฝ่หรือเกี่ยวข้องกับผู้หนึ่งผู้ใด การที่ “หน่วยงานที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ” ออกมาให้ข่าวอาจสร้างความเสียหาย สว.ต้องออกมาปกป้องศักดิ์ศรี

“เชื่อว่าการยื่นเรื่องให้ตรวจสอบครั้งนี้ มีกลุ่มขบวนการที่ต้องการให้เข้าสู่วังวนวิกฤติรัฐธรรมนูญอีกครั้ง รู้สึกไม่สบายใจที่มีข้อกล่าวหา เหตุไฉนหน่วยงานที่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อยู่ดีๆ ก็มาให้ข่าวมาออกข่าว บุคคลใดที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อวุฒิสภา ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายถึงที่สุด” ประธานวุฒิสภากล่าว

“บิ๊กเกรียง” พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง กล่าวว่า กระบวนการนี้เป็นปมโยงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มันไม่ค่อยปกติ จากนี้ไปจะมี สว.จำนวนหนึ่ง ใช้กระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกันในการกล่าวโทษดำเนินคดี รวมไปถึงลงชื่อเพื่ออภิปรายทั่วไป หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจผู้บริหารที่เกี่ยวข้องต่อไป.. ก็น่าสงสัยว่า หวยคงจะลงที่ สว.ขอเปิดอภิปราย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ที่พูดเรื่องนี้

ส่วน พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ สว. กล่าวว่า กลุ่มที่กล่าวหาก็อยู่ในกระบวนการ ขณะนี้มีกระบวนการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการฉ้อฉลและบิดเบือนอำนาจ ทุจริตในวงกว้าง นำไปสู่วิกฤติรัฐธรรมนูญ ผู้ที่กล่าวหานำเรื่องไปให้ดีเอสไอพยายามบั่นทอนความมั่นคง 3 เสาหลักของระบอบประชาธิปไตยเรา ที่มีอำนาจบริหารนิติบัญญัติและตุลาการ ปัญหาที่คณะรัฐมนตรีต้องไปแก้ไขมากมายทำไมไม่ไปทำ กลับมาสั่นคลอนนิติบัญญัติ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า ดีเอสไอต้องรับเรื่องเพราะมีผู้มาร้องทุกข์ว่าการจัดการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ ว่า มีการทำโพย และฮั้วกัน ผู้มาร้องนำโพยมาให้ว่ากลุ่มที่ 1 หมายเลขนั้นหมายเลขนี้ฮั้วกันถึงหมายเลข 20 พบว่าเป็น สว.อยู่ประมาณ 138 คน และ สว.ลำดับสำรองอยู่ 2 คน ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนคิดว่าผู้ร้องได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจในนิติบัญญัติ ถือว่าเป็นอำนาจของความมั่นคง เมื่อเข้าในชั้นคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จะต้องพิจารณาว่ามีมูลพอสมควรหรือไม่

“การสอบสวนเราจะต้องเชิญคนนอก เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย มีผู้เชี่ยวชาญบางคนมาให้การว่า ถ้าไม่มีการฮั้วกันจะเป็นแบบนี้ไม่ได้ ถ้าจะเลือกคน 10 คน ก็ควรสลับกันบ้าง แต่นี่ไม่สลับกันเลย ลำดับตรงกับโพย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสงสัย ยืนยันว่าไม่มีเรื่องการเมืองอะไรทั้งสิ้น ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าจะรับเรื่องหรือไม่ ถ้า สว.ไม่สบายใจจะเชิญผมไปชี้แจงก็ได้ ส่วนที่ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา ระบุว่า อาจจะขออนุญาตเข้าชื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจผมในสภา ก็ยินดี” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
เรื่องที่น่าสนใจต่อมา คือ การช่วยเหลือชาวนา ซึ่งเพิ่งมีมาตรการไปเมื่อวันที่ 20 ก.พ. แต่วันที่ 21 ก.พ. นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้ออกแถลงการณ์ว่า ยังไม่พอใจมาตรการพยุงราคาข้าวเปลือกนาปรังปี 67/68 ของกระทรวงพาณิชย์ ขอเรียกร้องให้อนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) ด้านการตลาด ทบทวนและวางมาตรการใหม่ตามที่เกษตรกรร้องขอ 5 ข้อ ดังนี้

1.ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการประกันราคาข้าวเปลือกเจ้าในฤดูนาปรังปีการผลิต 68 โดยความชื้นไม่เกิน 15% ราคาไม่ต่ำกว่า 12,000 บาทต่อตัน และความชื้นไม่เกิน 25% ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท 2.พิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีงดเผาตอซังฟางข้าว ไร่ละ 500 บาท 3.ควบคุมปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา และน้ำมันเชื้อเพลิง 4.หาแนวทางชดเชยพื้นที่เกษตรกรที่ใช้เป็นทุ่งรับน้ำ 5.พิจารณาโครงการไร่ละ 1,000 คงเดิม เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องต้นทุนการผลิต
และขอให้ภาครัฐพิจารณาให้สิทธิกับกลุ่มเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวไปแล้วในทุกมาตรการอย่างเท่าเทียมกัน มาตรการที่ประชุมอนุ นบข.ด้านการตลาด อนุมัติเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ฝ่ายเลขาฯเป็นผู้นำเสนอไม่ใช่ข้อเสนอของสมาคม โดยเฉพาะมาตรการฝากเก็บตันละ 1,500 บาท ก็มีข้อจำกัด สหกรณ์ไม่มีกำลังพอ สมาคมได้ท้วงติงไปหลายประเด็น แต่ก็ยังมีมติออกมา
แถลงการณ์ระบุตอนท้ายว่า มาตรการที่รัฐเสนอเมื่อ 20 ก.พ. มิได้ตอบสนองความเดือดร้อนของเกษตรกรโดยแท้จริง ขอให้ทบทวนและวางมาตรการใหม่ตามที่เกษตรกรร้องขอ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และ ป้องกันการสุ่มเสี่ยงทางเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในการประชุมคณะอนุ กบข.ด้านการตลาด เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ตัวแทนทางสมาคมชาวนา ได้ออกมาร่วมแถลงยืนยันว่า มีความพอใจในมาตรการระดับหนึ่ง และหากราคาข้าวเปลือกสดที่ตันละ 8,500 บาทเป็นราคาที่ชาวนาอยู่ได้

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รอง นายกฯ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ชี้แจงถึงกรณี 7 พรรคการเมืองเสนอญัตติด่วนเพื่อให้สภาพิจารณามาตรการช่วยเหลือชาวนา เนื่องจากราคาตกต่ำ ว่า ไม่เกี่ยวกับการเขย่าเก้าอี้ รมว.พาณิชย์ ของ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ และไม่ไปถึงขั้นปรับ ครม.
นายประเสริฐ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการแก้กฎหมายระดับรองเพื่อให้มีพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย ว่า ขณะนี้คณะทำงานร่วมกันกำลังพิจารณาว่ากฎหมายระดับรองจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือประกาศกฎกระทรวง ซึ่งพนันออนไลน์ที่จะต้องทำให้ถูกกฎหมายจะมีเรื่องพนันบอลออนไลน์ มวยออนไลน์ และยังดูว่าจะมีการพนันอะไรเพิ่มเติม ต้องรับฟังความเห็นประชาชนก่อนเข้า ครม.ในเดือน เม.ย.นี้
ความคืบหน้าในคดีที่ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา สส.พรรคก้าวไกล 44 คน กระทำการขัดต่อจริยธรรม ที่เสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112 มีความคืบหน้าคือเมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เดินทางไปสำนักงาน ป.ป.ช. เข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยนายวิโรจน์ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อ ป.ป.ช. พยายามทำให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีจริยธรรมถูกกระทำเหมือนผู้ถูกกล่าวหาก่อคดีอาญา ในเมื่อจะทำเช่นนั้นก็ควรเอาหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ด้วย คือต้องให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิในการเข้าถึงพยานหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ในการกล่าวหา

“ความเป็นธรรมพื้นฐานที่สุดคือเรื่องของระยะเวลา ป.ป.ช. เองก็ยังใช้เวลาในการไต่สวนข้อมูลต่างๆ เป็นปี การมาเร่งรัดให้ผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการภายใน 15 วัน ก็อาจถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องความเป็นธรรมได้ ยืนยันว่า การเป็น สส. แล้วไปร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่แตกต่างกันในประเทศนี้เป็นหน้าที่ การประกันตัวก็เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เราทำโดยเปิดเผยสุจริต ไม่มีคลิปลับแบบที่ปรากฏในข่าวก่อนหน้านี้ และการยื่นแก้ไขกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. ก็เป็นหน้าที่ที่ สส. พึงกระทำได้อยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ถูกต้องตามจริยธรรม” นายวิโรจน์ กล่าว

ปิดท้ายด้วยเรื่องเกี่ยวกับประกันสังคม “โกเกี๊ยะ” พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี “สส.ไอซ์” รักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคประชาชน (ปชน.) เชิญไปสภา ชี้แจงเรื่องการใช้งบประมาณของ สปส. ที่ถูกวิจารณ์เรื่องความคุ้มค่าว่า ตนเองและปลัดกระทรวงแรงงานพร้อมตอบทุกคำถามที่ฝ่ายนิติบัญญัติถาม แต่ขอให้เลื่อนเวลาไปเป็นสัปดาห์อื่นได้หรือไม่ เนื่องจากวันที่เชิญมานั้นต้องเดินทางไปที่ฮ่องกงและมาเก๊า เพื่อหารือเรื่องส่งแรงงานไทยไปทำงาน

ส่วนการทำประชาพิจารณ์เรื่องทำปฏิทินต่อก็ทำ จะถามว่าผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ยังต้องการปฏิทินหรือไม่ ปกติมีความต้องการประมาณ 4.1 ล้านฉบับ เป็นแบบแขวน 3.7 ล้านฉบับ และตั้งโต๊ะ 4 แสนฉบับ หากผลสำรวจออกมาว่าไม่อยากได้ปฏิทิน ก็จะยกเลิกการทำในปี 2570 และเรื่องบอร์ดแพทย์ที่จะหมดวาระ ที่ถูกมองว่า มีข่าวเพราะจะต่อรองนำคนของตัวเองไปอยู่ในบอร์ดแพทย์นั้น เราจบเรื่องบอร์ดแพทย์แล้ว คุยกับกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้ามาตลอด.
“ทีมข่าวการเมือง”