หลังการออกมาเปิดเผยของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ก็ตามมาด้วยคำถามของสังคมมากมายหลายแง่มุม นอกเหนือระเบียบ กฎหมายรองรับ ประโยชน์จากการอ่านเพื่อนำมา “ลดโทษ” จะมีหน้าตาอย่างไร ไปจนถึงหนังสือประเภทใดที่นำมาใช้ในโครงการนี้
“ทีมข่าวอาชญากรรม” สำรวจความคืบหน้า รวมถึงแนวทางในโครงการดังกล่าวที่น่าหยิบมาทำความเข้าใจ ภาพการให้ประโยชน์จากการอ่านหวังปูพื้นฐานการศึกษาคนหลังกำแพง
ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 52 ซึ่งบัญญัติว่า นักโทษเด็ดขาดคนใดแสดงให้เห็นว่ามีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษา และทำการงานเกิดผลดี หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ อาจได้รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ลดวันต้องโทษจำคุกให้เดือนละไม่เกิน 5 วัน”
รูปแบบโครงการกำหนดชื่อ “อ่านหนังสือลดวันต้องโทษ” (Read for Release) ที่มาที่ไปเริ่มขึ้นเมื่อปี 67 โดยแนวคิดของ พ.ต.อ.ทวี ก่อนที่จะมีการตั้งคณะทำงานประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือ รวมถึงจิตแพทย์ เพื่อร่วมกันระดมความเห็นขับเคลื่อนให้เป็นจริง
มีรายงานถึงการศึกษาโมเดลโครงการในต่างประเทศที่มีโครงการลักษณะเดียวกันนี้ เช่น ประเทศบราซิล เคนยา แคนาดา ฟิลิปปินส์ เป็นต้น โดยพบการกำหนดให้อ่านหนังสือ 1 เล่ม ได้ลดโทษ 4 วัน และใน 1 ปี อ่านได้ไม่เกิน 12 เล่ม ซึ่งลดโทษสะสมรวมได้ 48 วันต่อปี
สำหรับประเทศไทย ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ยังอยู่ระหว่างการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ เพื่อให้เพิ่มกิจกรรมการอ่านเป็นอนุหนึ่ง ให้ได้รับการลดโทษ ตามมาตรา 52
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้มีส่วนที่กรมราชทัณฑ์สามารถดำเนินการได้ก่อน “อ่านหนังสือลดวันต้องโทษ” คือ การกำหนดให้มีการ “เลื่อนชั้น” ผู้ต้องขังจากการอ่านหนังสือ เช่น เลื่อนชั้นจากนักโทษ “ชั้นดี” เป็น “ชั้นดีมาก” ซึ่งบัญญัติในกฎกระทรวงด้านการพัฒนาพฤตินิสัยไว้อยู่แล้ว โดยจะเริ่มนำร่องการอ่านหนังสือเพื่อเลื่อนชั้น ในเรือนจำและทัณฑสถาน จำนวน 21 แห่ง ดีเดย์รอบแรกเดือน เม.ย. นี้
ประเภทหนังสือที่ใช้มี 2 ประเภท ได้แก่ “ภาคบังคับ” จะเป็นไปตามที่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกำหนด ส่วน “ภาคเสรี” จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ต้องขังมีนิสัยรักการอ่าน และอ่านหนังสือตามความต้องการ เช่น หนังสือเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ หนังสือด้านจิตใจ นวนิยาย เป็นต้น
หลักเกณฑ์การวัดผลและประเมินผล จะมีทั้งการเขียน หรือเล่าสรุปความ การเขียนบันทึกการอ่าน การอ่านออกเสียง การวาดภาพ เป็นต้น โดยจะมีการจัดกลุ่มและสร้างเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานให้กับเรือนจำ เพื่อนำไปใช้ประเมินผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการ
จากการสอบถามในส่วนกรมราชทัณฑ์ ระบุหลักเกณฑ์หนังสืออ่านเลื่อนชั้น ประกอบด้วย หนังสือประเภทบังคับ 1 เล่ม พิจารณาโดยคณะกรรมการฯ ที่กรมราชทัณฑ์แต่งตั้งขึ้นมา ส่วนหนังสือประเภทเสรี 1 เล่ม พิจารณาโดยคณะกรรมการฯชั้นเรือนจำ
โดยมี “เงื่อนไข” ต้องไม่มีเนื้อหา/ภาพที่สื่อความรุนแรง หรือสะเทือนอารมณ์ ต้องมีความเหมาะสมกับระดับความรู้ของผู้ต้องขัง และหากเป็นหนังสือประเภทหนังสือภาพ ต้องมีตัวอักษรไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50
สำหรับแผนการอ่านหนังสือประกอบการเลื่อนชั้น มีลำดับขั้นดำเนินการ ดังนี้
ม.ค.68 แต่งตั้งกรรมการอ่านหนังสือประกอบการเลื่อนชั้นระดับเรือนจำ, กรรมการอ่านหนังสือประกอบการเลื่อนชั้นระดับเรือนจำพิจารณาหนังสือประเภทเสรี สำหรับใช้งานประกอบการเลื่อนชั้น
ก.พ.- มี.ค. 68 คัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเข้าร่วมโครงการ และจัดสรรงบจัดซื้อหนังสือแก่เรือนจำนำร่อง 21 แห่ง และ Kick off การอ่านหนังสือประกอบการเลื่อนชั้น
เม.ย. 68 ผู้ต้องขังอ่านหนังสือตามเกณฑ์ที่กำหนด กรรมการระดับเรือนจำพิจารณา วัดและประเมินผลการอ่าน พ.ค. 68 ออกประกาศนียบัตรเมื่อผู้ต้องขังผ่านเกณฑ์ประเมิน และส่งเอกสารประกอบการพิจารณาเลื่อนชั้นในรอบนี้
การวัดและประเมินผล ประกอบด้วย 1.การสัมภาษณ์ 2.การแสดงความสามารถจากการอ่าน 6 รูปแบบ (ผู้ต้องขังเลือก 2 รูปแบบ) คือ การเล่าเรื่อง การเขียน การอ่านออกเสียง Mind Mapping การวาดภาพ และการสร้างสรรค์ผลงาน
เปิด 21 เรือนจำ/ทัณฑสถานนำร่องการอ่าน
1.เรือนจำกลางระยอง 2.เรือนจำกลางชลบุรี 3.ทัณฑสถานหญิงชลบุรี 4.ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา 5.เรือนจำจังหวัดสกลนคร 6.เรือนจำกลางอุดรธานี 7.เรือนจำกลางเชียงราย 8.ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ 9.เรือนจำกลางนครสวรรค์ 10.เรือนจำกลางกำแพงเพชร 11.เรือนจำอำเภอสวรรคโลก
12.เรือนจำกลางเขาบิน 13.เรือนจำกลางนครปฐม 14.เรือนจำจังหวัดภูเก็ต 15.ทัณฑสถานหญิงสงขลา 16.ทัณฑสถานหญิงกลาง 17.ทัณฑสถานหญิงธนบุรี 18.เรือนจำจังหวัดนนทบุรี 19.เรือนจำกลางบางขวาง 20.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 21.ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน