สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ว่าจากการศึกษาครัวเรือนใน 2 กรณี ที่รัฐมิชิแกนเมื่อเดือนพ.ค. 2567 ซึ่งตีพิมพ์ในรายงานเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตประจำสัปดาห์ของซีดีซี หลังมีความกังวลเพิ่มขึ้นว่า เชื้อไวรัสอาจกลายพันธุ์และทำให้เกิดการระบาดในมนุษย์ นั้น
ในกรณีแรก แมวตัวเมียอายุ 5 ปีที่เลี้ยงไว้ในบ้าน มีอาการเบื่ออาหารอย่างฉับพลัน พฤติกรรมการแต่งขนตัวเองแย่ลง สับสน เซื่องซึม และระบบประสาทเสื่อมโทรม จนต้องได้รับการรักษาฉุกเฉินที่แผนกสัตวแพทย์ ของมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท (เอ็มเอสยู) โดยมันถูกทำการุณยฆาตภายใน 4 วัน ขณะที่ผลการชันสูตรยืนยันว่า “แมวตัวดังกล่าวติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก”
ต่อจากนั้นอีกไม่กี่วัน เจ้าของแมวอีกตัวนำแมวเมนคูนเพศผู้วัย 6 เดือน มารักษาที่มหาวิทยาลัย ด้วยอาการเบื่ออาหาร เซื่องซึม ใบหน้าบวม และเคลื่อนไหวได้จำกัด มันตายภายใน 24 ชั่วโมง อนึ่ง แมวตัวนี้อาศัยอยู่กับแมวอีกตัว แต่ไม่ติดเชื้อ
ผลปรากฏว่า เจ้าของแมวตัวที่สองมักกินนมซึ่งไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรส์ รวมถึงจากฟาร์มในรัฐมิชิแกน ที่มีการยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในวัวนม เจ้าของแมวยอมรับว่า “เคยสัมผัสนมดิบโดยไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกัน” รวมถึงโดนน้ำนมกระเซ็นเข้าหน้า ตาและเสื้อผ้าบ่อยครั้ง และลืมเปลี่ยนเสื้อผ้าทำงานก่อนเข้าบ้าน
จากการตั้งข้อสังเกต แมวที่ป่วยมีประวัติกลิ้งไปมาบนเสื้อผ้าทำงานที่ปนเปื้อนของเจ้าของ ส่วนแมวตัวที่ไม่ติดเชื้อไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว
ทั้งนี้ นักวิจัยของซีดีซีให้คำแนะนำว่า คนงานในฟาร์มโคนมควรถอดเสื้อผ้าและรองเท้า และล้างเศษซากของสัตว์ รวมทั้งนมและมูลสัตว์ ก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน.
เครดิตภาพ : AFP