ไฟป่าและการลักลอบเผาของเกษตรกรยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และคุณภาพอากาศของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เมื่อสภาพอากาศแห้ง ลมแรง และความชื้นในดินต่ำ ทำให้ไฟสามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็วและยากต่อการควบคุม รวมถึงการลักลอบเผาพื้นที่เกษตรยังคงเป็นแนวทางที่เกษตรกรบางส่วนใช้ในการกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด และใบอ้อย ซึ่งอาจช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวก แต่กลับส่งผลเสียร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามป้องกันและควบคุมไฟป่ารวมถึงการลักลอบเผา แต่ในทางปฏิบัติกลับทำได้ยาก เนื่องจากไฟสามารถลุกลามอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีวัสดุเชื้อเพลิงสะสมจำนวนมาก การเข้าถึงพื้นที่เพื่อดับไฟบางครั้งทำได้ล่าช้าหรือเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลหรือภูเขาสูง แม้จะสามารถตรวจพบจุดความร้อนได้จากดาวเทียม แต่การเข้าระงับเหตุในพื้นที่จริงยังต้องอาศัยการทำงานที่ประสานกันระหว่างหลายหน่วยงาน และวิธีการควบคุมเพลิงที่ยากลำบากและมีค่าใช้จ่ายสูง

ล่าสุด รศ. ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี นักวิจัยไทยจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้คิดค้น สารป้องกันไฟ นวัตกรรมที่สามารถช่วยลดโอกาสการลุกลามของการเผาไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผ่านกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และคิดค้นจากสารจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติช่วยลดการติดไฟ สามารถฉีดพ่นเพื่อป้องกันและสร้างแนวกันไฟเมื่อต้องเผชิญกับการเผาไหม้ ซึ่ง “สารป้องกันไฟ” ที่ถูกคิดค้นขึ้นมานี้ สามารถนำไปใช้ในการสร้างแนวกันไฟและป้องกันการลุกลามของไฟป่า รวมถึงการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณสมบัติเด่นของสารป้องกันไฟ

  • ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • สามารถฉีดพ่นเพื่อสร้างแนวกันไฟ ลดการลุกลามของไฟป่าและการเผา
  • ผลิตในประเทศไทยจึงมีต้นทุนต่ำกว่าสารป้องกันไฟที่นำเข้าจากต่างประเทศ
  • ช่วยป้องกันและลดมลพิษจากจากไฟป่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของ PM 2.5

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้นำสารป้องกันไฟไปทดลองใช้ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเอราวัณ จ.ลพบุรี พบว่าแนวกันไฟที่ฉีดพ่นไว้สามารถป้องกันไฟป่าจากการลุกลามได้จริง ช่วยลดความเสียหายต่อระบบนิเวศและลดผลกระทบต่อสัตว์ป่าในพื้นที่ โดยการคิดค้นนวัตกรรมดังกล่าวนับเป็นก้าวสำคัญของงานวิจัยไทยที่สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดการพึ่งพาสารป้องกันไฟนำเข้าจากต่างประเทศ และมีส่วนสำคัญในการบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งถือเป็นแนวทางป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต