เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่สำนักงาน ปปง. นายเกรียงไกรมาศ พจนสุนทร หรือ เคนโด้ ช่วยด้วย พาผู้เสียหายจำนวนมากที่ถูกบริษัท K4 ชักชวนลงทุนธุรกิจตู้เติมเงิน เข้าแจ้งยึดทรัพย์บริษัท K4 และผู้เกี่ยวข้อง กรณีตรวจสอบพบเส้นทางการเงินจากการชักชวนลงทุนดังกล่าว
นายเกรียงไกรมาศ เปิดเผยว่า บริษัท K4 มีการไปขออนุญาตนำ license จาก กสทช. ไปใช้ ซึ่งตามกฎหมาย กสทช. ไม่สามารถนำ license ไปใช้ในธุรกิจขายตรงได้ แต่บริษัทดังกล่าวฝืนกฎ นำซิม K4 ไปทำเป็นแพ็กเกจคล้ายกับขายตรง หากเจาะข้อมูลเข้าไปจะเห็นว่ามีการใช้แผนระดมทุน และอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนเกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยอ้างว่าจะได้เงินกำไร 300% และอ้างว่าบริษัทจะเติบโตเท่ากับค่ายมือถือดังสองค่าย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ

วันนี้ตนและผู้เสียหายเดินทางมาที่สำนักงาน ปปง. เพราะก่อนหน้านี้ ได้เดินทางไปที่ กสทช. แล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการอะไรให้ได้เลย ทั้งๆ ที่บริษัทดังกล่าว นำโลโก้ กสทช. ไปใช้โฆษณา อ้างว่าเป็นพาร์ทเนอร์กัน ทาง กสทช. ก็ทราบอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ดำเนินการอะไร และไม่สามารถยึด license กลับคืนได้ จึงตั้งข้อสังเกตว่ามีเทวดาคอยช่วยเหลือบริษัทอยู่หรือไม่
โดยก่อนหน้านี้ผู้เสียหายก็ได้มีการรวมตัวกันประมาณ 100 คน เข้าแจ้งความแล้ว ซึ่งรวมความเสียหายประมาณ 50 ล้านบาท แต่ตำรวจกลับบอกว่า จะต้องให้ผู้เสียหายคงที่ก่อน ซึ่งตนมองว่าตำรวจจะตอบแบบนี้ไม่ได้ จะให้คงที่ถึงเท่าไร แต่เบื้องต้นทางตำรวจก็ได้มีการตั้งข้อหาตามที่ผู้เสียหายได้แจ้งความไว้กับบริษัท ซึ่งประกอบด้วยเจ้าของและกรรมการ ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (แชร์ลูกโซ่) ซึ่งตอนนี้ทางตำรวจยังไม่ได้เรียกตัวผู้ถูกกล่าวหามาพบแต่อย่างใด และทางบริษัทดังกล่าว ก็ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ตามปกติ

นอกจากนี้ ตนขอเปิดชื่อคนดังที่คาดว่าจะมีเอี่ยวกับกรณีนี้ด้วยหรือไม่ คนแรกคือ นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือ ฟิล์ม รัฐภูมิ ที่ทางบริษัทได้มีการนำภาพมาแอบอ้าง ทำให้หลายคนหลงเชื่อลงทุน ตนไม่ได้จะปรักปรำ และคิดว่า ฟิล์ม รัฐภูมิ เอง ก็คงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวอะไร จึงอยากให้ทาง ฟิล์ม รัฐภูมิ ออกมายืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และออกมาแจ้งความเอาผิดบริษัท เพราะนำภาพไปใช้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำภาพนักการเมืองทั้งพรรคแดงและส้ม มาแอบอ้างอีกด้วย จึงอยากให้นักการเมืองดังกล่าวออกมาชี้แจงด้วย
นายวิทยาพร จันทวาส ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสืบสวนสอบสวนทางการเงิน รองโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.) ตำรวจได้มีการส่งเรื่องมาให้ ปปง. พิจารณาดำเนินการตามกฏหมาย ปปง. แล้ว ซึ่งการพิจารณาจะเข้าข่ายหรือไม่นั้น จากการที่รับฟังผู้เสียหายแล้วก็จะเห็นว่า มีการเข้าข่ายในลักษณะความผิดมูลฐานของ ปปง. เรื่องฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว

จากนี้ทางเราก็จะนำเสนอคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สิน หากพบว่ากรณีดังกล่าวมีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ปปง. ก็จะพิจารณาเรื่องของการยึดอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ จากนั้นก็จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ผู้เสียหายเข้ามายื่นคำร้องภายใน 90 วัน หลังจากนั้นก็จะส่งเรื่องให้ทางพนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายต่อไป หากผู้เสียหายมีเอกสารหรือพยานหลักฐานใดที่จะส่งให้ ปปง. ก็สามารถส่งมาได้ อาจจะเป็นข้อมูลทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลในการรวบรวมพยานหลักฐาน จะทำให้สามารถพิจารณาได้รวดเร็วขึ้น
ด้านนายชัยเมศร์ ชัยพัชรกุลพงษ์ เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด กล่าวว่า หลังจากที่มีผู้เข้ามาร้องทุกข์กับทางคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด ทางเราจึงได้มีการเรียกหน่วยงาน สคบ. กสทช. และ บก.ปอศ. เข้ามาหารือและเร่งรัดติดตามคดีนี้ จากนั้นทาง บก.ปอศ. จึงมีการส่งเรื่องมาทาง ปปง. ให้ตรวจสอบ เพื่อทำการอายัดทรัพย์ไว้ก่อน ซึ่งภายในสัปดาห์หน้า ก็จะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงกับเราว่า มีการดำเนินการไปถึงไหนอย่างไรบ้าง ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเนื่องเรื่องนี้ และขอให้ประชาชนมั่นใจในกระบวนการที่จะดำเนินการต่อไป.