เมื่อเวลา 17.16 น. วันที่ 20 ก.พ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสอนไซ สีพันดอน (Mr. Sonexay Siphandone) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนางวันดาลา สีพันดอน (Mrs. Vandala Siphandone) ภริยา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit)

ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2493 โดยมีความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันมาอย่างยาวนาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13-19 มิถุนายน 2535 เพื่อทอดพระเนตรสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และโครงการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ นับเป็นการกระชับความสัมพันธไมตรีระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศมาจวบจนปัจจุบัน การเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้เป็นการร่วมเฉลิมฉลองครบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปี 2568 ซึ่งทั้งสองประเทศได้ร่วมกันพัฒนาความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับทวิภาคีและในกรอบอาเซียน อาทิ ด้านการค้า ด้านการลงทุน ด้านการท่องเที่ยว รวมถึงด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการสาธารณสุข และการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างกันให้เจริญก้าวหน้า เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ

ต่อจากนั้นเวลา 17.46 น. พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์พิเศษกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายกสภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำคณะผู้บริหารสถาบันฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ พร้อมครุยวิทยฐานะ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยด้านวิศวกรรมการบินและอากาศยานมาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงมีความเชี่ยวชาญด้านการบินเป็นพิเศษ ทรงสำเร็จหลักสูตรเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง และหลักสูตรการบินรบชั้นสูง อีกทั้งทรงฝึกบินตามหลักสูตรนักบินจนได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก เมื่อปี 2548 พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านการบินทำให้ได้รับการถวายพระเกียรติว่า “กษัตริย์นักบิน” ทรงรอบรู้เทคนิคสมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบิน พระราชทานความรู้และประสบการณ์ที่ทรงได้รับกลับมาถ่ายทอดให้นักเรียนการบิน และทรงทำการฝึกสอนให้แก่นักบินของหน่วยบินเดโชชัย 3 และกองทัพอากาศ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการบินของประเทศไทยให้ก้าวไกลสู่มาตรฐานระดับสากล ด้วยมีพระวิริยอุตสาหะและทรงมุ่งมั่นที่จะทรงใช้ความเป็นนักบินปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการบินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่ออาณาราษฎร