เมื่อวันที่ 20 ก.พ. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ คณะที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และการดำเนินการดังกล่าว ได้ทำให้กระแสสังคมเกิดความเข้าใจว่าโครงการลงทุนต่างๆ ที่ตั้งในพื้นที่ อ.ปากช่อง ได้รุกพื้นที่เขต ส.ป.ก. รวมถึงโครงการแรนโช ชาญวีร์ ซึ่งเป็นธุรกิจของบุคคลในครอบครัวของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ด้วยนั้น
ล่าสุด นายธนดล ได้ระบุยอมรับผ่านการให้สัมภาษณ์ในรายการคมชัดลึก ช่องเนชั่นทีวี ในช่วงเย็นวันที่ 19 ก.พ. 68 ว่าผู้ถือครองที่ดินที่ในพื้นที่ดังกล่าวในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึง “แรนโช ชาญวีร์” เป็นการได้ที่ดินมาถูกต้อง ไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย เพราะที่ดินมีโฉนดตามประมวลกฎหมายที่ดินปี 2497 ทุกอย่างถูกต้องหมด พร้อมระบุว่าการตรวจสอบที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ เป็นการตรวจสอบกระบวนการออกโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว
นายธนดล ระบุชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล และย้ำถึงความบริสุทธิ์ของตัวรัฐมนตรี 2-3 ครั้ง ถือว่าให้ความเป็นธรรมกับผู้ถือครอง ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานข้อมูลของหน่วยราชการ ที่ยืนยันว่า เอกสารโฉนดในที่ดินซึ่งกำลังเป็นข่าวนั้น ถูกต้อง สมบูรณ์
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การให้สัมภาษณ์ผ่านรายการดังกล่าว ถือว่านายธนดลยอมรับเองว่าโครงการแรนโช ชาญวีร์ รวมถึงอีกหลายโครงการ เจ้าของและผู้พัฒนาโครงการในปัจจุบันได้ที่ดินมาโดยถูกต้อง ไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่กำลังตรวจสอบในสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเวลานี้คือประชาชน และสังคมส่วนใหญ่กำลังเข้าใจว่า ผู้ที่ลงทุนพัฒนาโครงการในพื้นที่ได้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกระทบต่อทั้งชื่อเสียง ความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือ
น.ส.ไตรศุลี ระบุการดำเนินการตรวจสอบต่างๆ เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรดำเนินการอย่างรอบครอบ และระบุให้ชัดเจนว่ากำลังตรวจสอบอะไร จุดใดที่ต้องสงสัยว่ามีความผิด เพื่อไม่ให้กระทบเกิดความเสียหายต่อผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้ทำสิ่งผิดกฎหมาย และสำคัญที่สุดต้องระมัดระวังไม่ให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ การลงทุนในพื้นที่ถูกกระทบจากความไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน เพราะแม้แต่ที่ดินที่ได้มา มีโฉนดถูกต้องยังถูกตรวจสอบเช่นนี้ ก็คงไม่มีนักลงทุนกล้าตัดสินใจลงทุนแล้ว
“การที่จะมาตรวจสอบที่มาของการออกโฉนด เป็นสิทธิที่นายธนดลทำได้ แต่หากมีการบิดเบือนข้อมูล จนมีผู้เสียหาย ก็เป็นโอกาสที่อีกฝ่าย จะใช้กฎหมายเข้าไปจัดการเช่นกัน ฝากเตือนนายธนดล ว่า แม้นายธนดลจะมีสิทธิตรวจสอบ แต่ประชาชนก็มีสิทธิใช้กฎหมายปกป้องตัวเอง” น.ส.ไตรศุลี กล่าวย้ำ