เมื่อวันที่ 19 ก.พ. แหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาล กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และการส่งตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ออกมาจากเมียนมา ว่า รัฐบาลพยายามดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยไทยได้หยิบยกไปหารือในเวทีอาเซียน ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (เอ็มแอลซี) รวมถึงในการหารือปัญหาประเทศเพื่อนบ้านรอบเมียนมาอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อปี 2567 รวมถึงการที่นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และเข้าพบนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้นำประเด็นปัญหาดังกล่าวไปพูดคุยด้วย และหลังจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเป็นเจ้าภาพจัดการหารือร่วมกับต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
ส่วนการเดินทางมาประเทศไทยของนายหลิว จงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เดินทางมาประเทศไทย รวมถึงกรณีที่ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีมติตัดการจ่ายพลังงานไฟฟ้า ตัดการส่งน้ำมัน และระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากฝั่งไทยไปยังเมียนมา ในพื้นที่ที่เป็นที่ต้องสงสัยว่าเป็นฐานขบวนการคอลเซ็นเตอร์ และได้มีการประสานทางการเมียนมาอย่างใกล้ชิดนั้น นำไปสู่การส่งตัวเหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์ กว่า 260 คน เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนผลลัพธ์การเจรจาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จำนวนชาวต่างชาติที่เป็นเหยื่อขบวนการดังกล่าว คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10,000 คน และจะมีการทยอยส่งตัวจากฝั่งเมียนมาข้ามมาฝั่งไทยประมาณหลักพันคน
หลังจากผู้ที่แสดงตัวว่าเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ถูกส่งข้ามมาฝั่งไทยแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการแรกรับที่มีการจำแนกสัญชาติ และการตรวจคัดกรองสุขภาพ ตามด้วยการคัดกรองร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งต่อไปยังกระบวนการคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (เอ็นอาร์เอ็ม) เพื่อคัดกรองว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จริงหรือไม่ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเป็นผู้ดำเนินการ หากพบว่าเป็นผู้ต้องสงสัยร่วมขบวนการอาชญากรรม จะถูกส่งตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายของไทย
ส่วนการช่วยเหลือเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลของประเทศต้นทาง เพื่อประสานให้มารับตัวเหยื่อกลับมาตุภูมิเร็วที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศนั้นๆ ด้วย แต่ฝ่ายไทยยืนยันว่าไม่มีการให้มาอยู่ยาวในไทย ส่วนกรณีของเหยื่อชาวเอธิโอเปีย จำนวน 138 คน เนื่องจากเอธิโอเปียไม่มีสถานเอกอัครราชทูตในไทยนั้น รัฐบาลจึงต้องประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตเอธิโอเปียประจำประเทศอินเดีย ที่มีขอบเขตอำนาจครอบคลุมประเทศไทย ในการติดตามรับตัวพลเมืองของเขากลับประเทศ
กรณีของเหยื่อที่เป็นพลเมืองชาวจีนนั้น ทางการจีนจะดำเนินการตรงนี้เอง รวมถึงได้จัดส่งเครื่องบินพาณิชย์ของจีน วันละ 4 เที่ยวบิน มายังสนามบินแม่สอด จ.ตาก เพื่อรอรับพลเมืองชาวจีนกลับประเทศ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. นี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นรูปธรรมมากขึ้น มาจากเหตุการณ์ที่นายหวัง ซิง หรือ ซิงซิง นักแสดงชาวจีน ที่ถูกล่อลวงไปเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมียนมา โดยไทยถูกใช้เป็นทางผ่าน จนทำให้ประชาชน รวมถึงทางการไทยและจีนตื่นตัว จนส่งผลให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีของจีน เดินทางมายังประเทศไทย และได้ร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะหากทางการจีนไม่ร่วมมือหรือมีส่วนร่วม ก็ทำให้แก้ปัญหานี้ได้ยาก เนื่องจากถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายประเทศ
สำหรับการแก้ไขและป้องกันปัญหาในระยะยาวนั้น มีหลายทางเลือก ทั้งการตั้งกลไกใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ในการต่อต้านสแกมเมอร์โดยเฉพาะ แต่ยังไม่มีข้อสรุป และการดำเนินการตามกรอบความร่วมมือเอ็มแอลซี ที่มีไทย เมียนมา และจีน เป็นสมาชิกอยู่ และอีกทางเลือกหนึ่ง คือการใช้กลไก สมช. ตามที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน แต่อาจจะต้องขยายขอบเขตอำนาจของหน่วยงานที่มี เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในลักษณะนี้ ไม่เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีก