หลังจากที่มีผู้ป่วยโพสต์คลิปวิดีโอบนแพลตฟอร์มติ๊กต็อก กล่าวถึง “เมือกสีชมพู” ในห้องน้ำซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาต้องเข้าโรงพยาบาล นายแพทย์คารัน ราช ก็นำคลิปวิดีโอดังกล่าวมาขยายความและอธิบายว่า เมือกสีชมพูเหล่านั้นคืออะไรและมีอันตรายต่อร่างกายอย่างไรได้บ้าง

“หากคุณเห็นเมือกสีชมพูนี้โผล่ออกมาในห้องน้ำ นั่นไม่ใช่เชื้อรา แต่เป็นแบคทีเรีย” คุณหมอราชอธิบาย “โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อตัวที่ชื่อว่า เซอร์ราเทีย มาร์เซสเซนส์ (Serratia Marcescens) ซึ่งจะ ‘อาเจียน’ ซากสีชมพูออกมาทั่วห้องน้ำ แบคทีเรียชนิดนี้ชอบที่ชื้นแฉะและชอบกินคราบไขมัน เช่น คราบสบู่และแชมพู นี่คือสาเหตุที่แบคทีเรียชนิดนี้ชอบมาอาศัยอยู่ในห้องน้ำที่มักมีไอน้ำเกาะ”

ดร.ราชกล่าวว่า ปกติแล้ว แบคทีเรียชนิดนี้ “ไม่ค่อยเป็นอันตราย” สำหรับคนทั่วไปที่สัมผัสโดนเชื้อเข้า แต่ก็ไม่ควรให้เชื้อเหล่านี้เข้าไปในชั้นผิวหนังผ่านทางดวงตาหรือบาดแผลเปิด 

อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียชนิดนี้จะกลายเป็นอันตรายร้ายแรงสำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์หรือบกพร่อง ดร.ราช อธิบายว่า เมือกสีชมพูอาจติดเชื้อที่บริเวณช่วงอก ลำไส้ หรือปัสสาวะของผู้ที่มีภาวะเสี่ยง

นอกเหนือจากเมือกสีชมพูเจ้าปัญหาแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าเมือกเหล่านี้ก็คือสิ่งอื่นๆ ที่อาจเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน เช่น เชื้อราดำซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบหายใจของมนุษย์ 

โดยสรุปแล้ว การทำความสะอาดห้องน้ำเป็นประจำจะดีที่สุดเพื่อป้องกันการสะสมของเมือกหรือคราบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมือกสีชมพูหรือเมือกสีอื่นๆ

นอกจากจะทำความสะอาดห้องน้ำอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังควรดูแลเรื่องการระบายอากาศในห้องน้ำให้ดี เพื่อไม่ให้ห้องน้ำมีความชื้นตลอดเวลา อันจะทำให้ห้องน้ำกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อราและเชื้อโรคได้

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ :  Brett Hondow from Pixabay